เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย รอเงินเฟ้อเข้าเป้าก่อนขยับ

ข่าววันที่ : 26 มี.ค. 2561


Share

tmp_20182603103141_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 26 มี.ค. 2561

          คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย โดยการประชุมครั้งนี้ "นักเศรษฐศาสตร์" เชื่อว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 1.5% แม้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เพิ่งจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% มาอยู่ที่ 1.50-1.75% ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่สูงกว่าไทยครั้งแรกในรอบหลายปี
          กรุงเทพธุรกิจ "พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร มองว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แต่เงินเฟ้อล่าสุดยังอยู่ระดับต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายค่อนข้างมาก ประกอบกับเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
          "มีสัญญาณ 3 ตัว ที่ดูว่า กนง. จะปรับขึ้น ดอกเบี้ยหรือไม่ คือ 1.เงินเฟ้อ หากยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ยังไง กนง. ก็คง ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย 2.ค่าเงินบาท ถ้ากลับมาอ่อนค่ามากๆ กนง. อาจขยับขึ้นดอกเบี้ยบ้าง แต่ดูแล้วคงยังไม่ใช่ เพราะวันนี้เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง 3. สินเชื่อ ถ้ามีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นมากๆ กนง. อาจนำ ดอกเบี้ยอาจจะเข้ามาช่วยเบรกบ้าง แต่ตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นตรงนั้น"
          พิพัฒน์ บอกด้วยว่า โดยรวมแล้วเชื่อว่าในครึ่งปีแรกดอกเบี้ยนโยบายจะยังทรงตัวในระดับ 1.5% ต่อเนื่อง แต่ช่วงครึ่งปีหลังคงต้องมาประเมินกันอีกที โดยดูทั้งในส่วนของเงินเฟ้อว่ามีสัญญาณเร่งตัวขึ้นหรือไม่ ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐมีผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร และสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เร่งตัวมากขึ้นแค่ไหน
          ส่วนโอกาสที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแทบไม่มีเลยเช่นกัน แม้ว่าเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอยู่ค่อนข้างมาก และเงินบาทจะยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าฟื้นตัวได้ชัดเจน ขณะที่ ดีมานด์ภายในประเทศก็เริ่มดีขึ้น อาจมีเพียงการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่ยังทำได้ไม่ดีนักเท่านั้น
          "คิดว่า แบงก์ชาติ คงต้องยอมกัดฟันตัวเอง โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะถ้าไปปรับลดตอนนี้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก ซึ่งอาจทำได้แค่รอให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย เพื่อ มาแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท"
          "สมประวิณ  มันประเสริฐ" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ที่ประชุม กนง. วันที่ 28 มี.ค.นี้ เชื่อว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% แม้ว่า เฟด ได้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% เนื่องจากมองว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันแม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่ได้แข็งแกร่งมาก ยังต้องอาศัยการประคับประคองจากภาคการเงินและภาคการคลัง
          อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูว่ากนง.จะมีมุมมองต่อสภาพเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไรบ้าง รวมทั้งการส่งสัญญาณ ในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต ที่ผ่านมา กนง.เริ่มส่งสัญญาณว่าจะลดการใช้ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
          ทั้งนี้ ประเมินว่า กนง.มีโอกาสที่จะ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังได้ 1 ครั้ง หรือ 0.25% หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัว ได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น การส่งออกยังเติบโตดี ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
          "จิติพล พฤกษาเมธานันท์" นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 1.5% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าไทย แต่ก็มองว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อการไหลออกของเงินทุนเท่าไหร่ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้  ประกอบกับในระยะต่อไปหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ดังนั้น ความน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน ในหุ้นของบริษัทเอกชนของสหรัฐก็จะ ลดลง
          "กนง.ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ย ดูจากเงินเฟ้อที่ระดับ 0.4% เทียบกับดอกเบี้ย ที่ 1.5% ก็ถือว่าเหมาะสม กนง.อาจคงดอกเบี้ย ไปได้อีก 2 ปี ด้วยซ้ำ ถ้าดูจากพื้นฐานเศรษฐกิจจริงๆ"
          "ทิม ลีฬหะพันธุ์" นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ประเมินว่า การประชุม กนง.ครั้งนี้ เชื่อว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจะมีคอมเม้นท์จากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ว่า เศรษฐกิจโตดีกว่าคาด และจะมีการปรับคาดการณ์ขึ้นในปลายเดือนนี้ ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ตีความได้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้เข้ามาแล้ว
          "มุมมองเรามองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง ส่วนดอกเบี้ยในประเทศมุมมอง ตลาดส่วนใหญ่คงมองว่าคงดอกเบี้ยในปีนี้ มีเพียง 35% ของตลาดที่บอกว่ากนง.อาจจะ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปลายปีนี้ แต่สแตนชาร์ดมองว่าอาจจะมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2 ครั้ง เรามองชัดว่า สภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้มาตลอด 3-4 ปีน่าจะใกล้หมดแล้ว ถึงจะขึ้นหรือไม่ขึ้นในปีนี้ ยังไงโทนของทุกคนมองว่าอีกไม่นานดอกเบี้ยคงเริ่มปรับขึ้น"
          "เชาว์ เก่งชน" กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมกนง. ในสัปดาห์นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอยู่ และคงยังไม่มีการส่งสัญญาณการปรับขึ้น ยังเร็วไปที่จะทำ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตดี และธปท.คงปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ขึ้น  แต่ก็ไม่ได้ร้อนแรงจนต้องส่งสัญญาณปราม ขณะที่สภาพคล่องในระบบยังมีสูง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้หรือไม่ เพราะมีข้อพิพาททางการค้ากับจีน ซึ่งไม่รู้ว่า สถานการณ์จะบานปลายหรือไม่
          "ต้องติดตามดูว่าการประชุมกนง.รอบนี้ ที่ประชุมจะแสดงข้อคิดเห็น หรือแสดงความเป็นห่วงเรื่องข้อพิพาททางการค้าของจีนและสหรัฐอย่างไร เพราะรายละเอียดสินค้าจีนที่จะโดนเรียกเก็บภาษียังไม่ออกมา คาดว่าจะออกมาในอีก 2 สัปดาห์ ต้องดูรายละเอียดสินค้าก่อน จึงจะประเมินผลกระทบของเราได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง และในระหว่างที่สถานการณ์ไม่แน่นอนก็จะกระทบกับตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน เห็นได้จากตลาดหุ้นที่ปรับลดลง และดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า"
          "สมบัติ นราวุฒิชัย" เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ประเมินว่า กนง. ยังคงดอกเบี้ยในประเทศ เพราะแม้ว่าสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้น เว้นแต่ว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้ จึงจะมีการพูดคุยกันถึง การปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งหากดอกเบี้ยในประเทศปรับขึ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ คงเป็นธุรกิจที่ปล่อยกู้รายย่อย เป็นต้น เชื่อว่ากลุ่มนี้ก็คงปรับตัวรับกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  26 มีนาคม 2561