เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นอนแบงก์หนี้เสียพุ่ง วัยทีนกลุ่มเสี่ยงใหญ่-เข้มสินเชื่อมอเตอร์ไซค์

ข่าววันที่ : 26 มี.ค. 2561


Share

tmp_20182603101320_1.png

วันที่ ปรับปรุง 26 มี.ค. 2561

          ธปท.เร่งกำกับรายสถาบันการเงิน

          สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. เปิด ผลวิจัยพบ นอนแบงก์- สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีสัดส่วนหนี้เสียพุ่งสูง เหตุแข่งดึงสินเชื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ จับตาผู้กู้วัยทีน-สินเชื่อมอเตอร์ไซค์หนี้เสียกระฉูด เร่งกำกับรายสถาบันมากขึ้น

          นางสาวโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยและพฤติกรรมของสถาบันการเงินจาก Big Data ของเครดิตบูโรตั้งแต่ปี 2522-กรกฎาคม 2559 จาก 65 ล้านสัญญา หรือคิดเป็นผู้กู้ 19.3 ล้านคน ครอบคลุม 87% ของหนี้ทั้งระบบ พบว่า ตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยมีความกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยสถาบันการเงินที่มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) มากที่สุด 6 อันดับแรก จะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อีก 3 แห่ง จากสถาบันการเงินทั้งหมด 90 แห่ง ได้ครอบครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 60%

          หากดูตามประเภทสถาบันการเงิน พบว่า สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีสัดส่วนของผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ โดย Non Bank มีหนี้เสียประมาณ 17.7% หรือมีปริมาณหนี้เสียเฉลี่ยต่อคน 41,886 บาท ขณะที่ SFIs มีหนี้เสียอยู่ที่ 11.6% เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 61,248 บาท และธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 9.7% เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 122,645 บาท

          อย่างไรก็ตามภาพรวมยังไม่พบว่ามีความเสี่ยงเชิงระบบ เพราะสถาบันการเงินสามารถรองรับได้ โดยนโยบายการกำกับดูแลภายใต้ความแตกต่างและพฤติกรรมของการแข่งขันนั้น จะต้องเข้าไปดูในแต่ละรายสถาบันการเงิน เช่น ที่ผ่านมาสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความน่าเป็นห่วง อาจจะเข้าไปกำกับทั้งในภาพรวมและดูเป็นรายสถาบันการเงิน หรือสินเชื่อจักรยานยนต์พบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงถึง 40% และมีหนี้เสียสูงในทุกสถาบันการเงินที่เป็น Non Bank อาจจะต้องเข้าไปดูโครงสร้างการแข่งขันหรือโครงสร้างของตลาด เป็นต้น

          ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจพบว่า สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิต จะเป็นสินเชื่อที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นใน 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจักรยานยนต์ และกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุไม่ถึง 25 ปี จะเห็นว่ามีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงในทุกสถาบันการเงินและในทุกผลิตภัณฑ์ ดังนั้นหากมองในกลุ่มอายุพบว่าสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงจะอยู่ในกลุ่มอายุ 25-35 ปี คิดเป็น 20.2% ของผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียทั้งระบบ และรองลงมาจะเป็นกลุ่มอายุต่ำ กว่า 25 ปี มีสัดส่วนประมาณ 17.7%

          สาเหตุผู้กู้ที่มีอายุเฉลี่ย 25-35 ปีหรือต่ำกว่า 25 ปี เป็นหนี้เสียสูงเพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงาน และมีเงินเดือนประจำ และยังเข้าไม่ถึงตลาด สถาบันการเงินจึงแข่งขันเพื่อดึงกลุ่มนี้เข้ามาในพอร์ต เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและสามารถเพิ่มสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ของสถาบันการเงินได้ โดยผู้กู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี คิดเป็นจำนวน 3.2% ของผู้กู้ทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณสินเชื่อเป็น 1.1% ของปริมาณสินเชื่อทั้งหมด และพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง จะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เป็นหลัก

          การแข่งขันที่สูง มีทั้งข้อดีและเสีย โดยข้อดีทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น แต่ข้อเสีย ทำให้คุณภาพสินเชื่อก็ด้อยในกลุ่มที่แข่งขันสูงด้วย เนื่องจากการแข่งขันของสถาบันการเงินมี 2 มิติ คือ มิติแรก จะเป็นการแข่งขันเชิงปริมาณ คือ การเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ บางครั้งจะเห็นสถาบันการเงินบางแห่งดึงลูกค้าที่ด้อยคุณภาพเข้ามาในพอร์ต เพื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ โดยไม่ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี เช่น สินเชื่อจักรยานยนต์ ที่มีสัดส่วนหนี้เสียทั้งในเชิงเม็ดเงินและในเชิงจำนวนคนที่มีหนี้เสีย และมิติที่ 2 จะเป็นการแข่งขันเชิงคุณภาพ คือ การรักษาคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการแข่งขัน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 25 - 28 มี.ค. 2561