เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

113 ปีกรมชลประทาน

ข่าววันที่ : 19 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151906152226_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 19 มิ.ย. 2558

          ประวัติศาสตร์อันยาวนาน 113 ปีของกรมชลประทาน หน่วยงานหลักของรัฐในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำของประเทศ ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมคลอง” ขึ้นมาในปี 2445 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมชล ประทาน” ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ใช้ชื่อนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน ก้าวย่างขึ้นสู่ปีที่ 114 เป็นปีแรกที่กรม ชลประทานมีภารกิจสำคัญ ในการจะดำเนินงานตาม “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ของประเทศ ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 12 ปีตั้งแต่ปี 2558-2569 มียุทธศาสตร์รองรับ 6 ด้าน คือ 1. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อม โทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ตามแม้ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับกรมชลประทานทั้งหมดก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะต้องจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งเพื่อเพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากการผันแปรของภูมิอากาศ จัดการน้ำต้นทุนเพื่อการอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งควบคุมและจัดสรรน้ำให้สมดุลและเพียงพอกับความต้องการในทุกภาคส่วน โดยให้มีความสมดุลกับน้ำต้นทุน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดแผนการดำเนินการโดยจะขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานให้ได้อีก 18.8 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ก็จะมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน ไม่น้อยกว่า 48.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ ในปีที่กรมชลประทานครบ 113 ปี ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ หรือร้อยละ 20 ของพื้นที่การเกษตรของประเทศซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 149 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 119 ล้านไร่ ยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงกับภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพบก กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปีที่กรมชล ประทานครบ 113 ปี ในปี 2558 นี้ ถือเป็นปีมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ กรมชลประทานจึงได้จัดงาน “60 พรรษา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร ชลประทานทั่วไทย น้อมถวายพระพรชัยมงคล” ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2558 ณ กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากกรมชลประทาน และหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการแสดงแสงสีเสียงกลางน้ำที่สวยงามอีกด้วย. 
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 19 มิถุนายน 2558