เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

'อุ๋ย'มองไทยแข่งขันดีขึ้นดอกเบี้ยต่ำ-บาทอ่อน

ข่าววันที่ : 11 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151106100250_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 11 มิ.ย. 2558

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า กรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเกือบ 3% จากระดับ 32.80 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 33.70 บาท/เหรียญสหรัฐนั้น มีผลให้ภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เริ่มกลับมาฟื้นตัว จากก่อนหน้านี้ ประกอบการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงอีก ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้ที่ 1.5% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว

          "ดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ต่ำสุดในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันของไทยอยู่ในระดับที่ดี สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ เพราะได้กำไรจากการส่งออกมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

          สำหรับประเด็นเรื่องค่าแรง ขั้นต่ำ ยืนยันว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เคยพูดถึงการปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำเกินกว่า 300 บาท/วัน เพราะเป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจปรับหรือไม่ปรับขึ้นก็ได้ แต่จะไม่มีการปรับลดค่าแรงขั้นต่ำลงอย่างแน่นอน

          "ในอดีตมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบเร่งขึ้นไปที่ 300 บาทเร็วเกินไป ก็เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน แต่ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ตัวแล้ว การที่จะไปปรับลดค่าแรงก็คงทำไม่ได้ แต่การจะให้ลอยตัวตอนนี้ก็ลอยตัวอยู่ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต่ำกว่านี้ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ" ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว

          ขณะที่ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ เนื่องจากบางพื้นที่มีอัตราค่าครองชีพต่ำ แต่กลับมีค่าแรงเท่ากับพื้นที่มีค่าครองชีพสูง เช่น กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมีค่าแรงเท่ากัน ซึ่งมองว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ควรใช้ค่าแรง 300 บาทเป็นฐาน  ผู้ประกอบการรายใดจะให้มากกว่าก็ต้องขึ้นอยู่กับรายนั้นๆ

          เมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ประเมินว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังชะลอตัวลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก

          อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมีบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ

          แต่มีความเสี่ยงจากโอกาส ที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่า ที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะ เศรษฐกิจจีนและเอเชีย ส่วนยุโรปปรับตัว ได้ดีตามที่คาดไว้ กรณีกรีซไม่น่าจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะมีผลกระทบให้ตลาดการเงินในตลาดโลกผันผวนบ้าง ส่วนการ ปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือน ก.ย.ปีนี้ ซึ่ง กนง.ก็จะติดตามต่อไป

          สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลักแต่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก แต่แนวโน้มลดลงบ้างตามแรงกดดันจากความต้องการใช้จ่ายในประเทศที่มีจำกัด แต่ กนง.ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัวราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ

          ทางด้านความเคลื่อนไหวของเงินบาท เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558  ปิดตลาดเย็นอยู่ที่ระดับ 33.66 บาท/เหรียญสหรัฐ แข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.70/72 บาท/เหรียญสหรัฐ เคลื่อนไหวตามค่าเงินภูมิภาค และผลประชุม กนง.ออกมามีมติคงดอกเบี้ย ขณะเดียวกันมีแรงซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์กลับคืนด้วย  จากก่อนหน้านี้ตลาดกังวลว่าหากลดดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงตาม  รวมถึงปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น จึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์อย่างรุนแรง

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานวันรับรองระบบงานและวันมาตรวิทยาโลก ว่า ดอกเบี้ยต่ำ-บาทอ่อนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ดีขึ้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มิถุนายน 2558