เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

รุกพัฒนา "ข้าวโภชนาการสูง" บุกตลาดสุขภาพ

ข่าววันที่ :10 ม.ค. 2567

Share

tmp_20241501093206_1.jpg

                  เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศมหาอำนาจในการผลิตและครองตลาดข้าวคุณภาพดีระดับโลก ซึ่งประเทศไทยมีกำลังการผลิตข้าวหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือข้าวโภชนาการสูง ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพทางโภชนาการในปริมาณที่สูงกว่าข้าวทั่วไป มีคุณค่าทางอาหารและพฤกษเคมี หรือสารที่มีฤทธิ์ทางโภชนเภสัชสูง ที่ผ่านมากรมการข้าวได้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูงหลากหลายพันธุ์เพื่อสร้างความหลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

                  ดร.รณชัย ช่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมข้าว กล่าวว่า ข้าวโภชนาการสูงส่วนมากจะรู้จักในกลุ่มข้าวเยื่อหุ้มเมล็ดมีสีเป็นหลัก ซึ่งในอดีตพบในข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ซึ่งเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ปลูกในท้องถิ่นเฉพาะ และมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ในระยะหลัง มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเยื่อหุ้มเมล็ดมีสีให้ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งปี ให้มีผลผลิตสูงขึ้น และมีการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์กระแสการบริโภคสินค้าเกษตรที่มีโภชนาการสูง เพื่อยกระดับรายได้ของชาวนาและกลุ่มชาวนา

                  สำหรับข้าวโภชนาการสูง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ที่นิยม อาทิ กลุ่มเม็ดข้าวสีแดง เช่น มะลิโกเมนสุรินทร์, กข69 (ทับทิมชุมแพ), สังข์หยดพัทลุง, ดอกข่า 50 กลุ่มข้าวสีม่วงและดำ เช่น กข83 (มะลิดำหนองคาย), มะลินิลสุรินทร์, เหนียวดำลืมผัว, เหนียวดำหมอ 37, เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49, เหนียวดำดาษ 20 ซึ่งข้าวแต่ละสี แต่ละพันธุ์ ก็จะมีชนิดและปริมาณของสารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ ที่แตกต่างกันออกไป

                  นายสุแทน สุขจิตร ประธานวิสาหกิจชุมชน Satom Organic Farm จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Satom Organic Farm จังหวัดสุรินทร์ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันปลูกข้าวโภชนาการสูงเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ สำหรับความยาก ง่าย ในการปลูกและดูแลข้าวโภชนาการสูงนั้น ถือว่าไม่ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง หรือเป็นข้าวที่มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มาจากพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ลดข้อจำกัดในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืช

                  อีกทั้งผลผลิตยังสูงอีกด้วย และเนื่องจากกลุ่มเกษตรกรมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งเพียงพอต่อการปลูกข้าวเพื่อบริโภค ดังนั้นหากเหลือก็จะนำมาเพิ่มมูลค่าทางการค้า เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ข้าวบรรจุถุงสูญญากาศ เครื่องดื่มจากข้าว ซึ่งทำให้ข้าวมีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Satom Organic Farm จังหวัดสุรินทร์ ยังมีแนวคิดที่จะเป็นต้นแบบในการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ และใช้มุ่งเน้นการผลิตและแปรรูปข้าวแบบ BCG Model ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางดิน น้ำ และอากาศ อีกด้วย

                  ปัจจุบันข้าวโภชนาการสูงหลากหลายพันธุ์เป็นที่รู้จัก และมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้กรมการข้าวได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์และเชื่อมโยงตลาดข้าวเฉพาะ เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตข้าวที่หลากหลายให้แก่พี่น้องชาวนา

 

ที่มา  :  สยามรัฐ  10 มกราคม 2567
https://siamrath.co.th/n/506077

 

 

คลังภาพ (Gallery)
pic_20241501093206_1.jpgpic_20241501093206_2.jpgpic_20241501093206_3.jpg