เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เกษตรกรทับสะแกยึดบัญชีสหกรณ์แก้ปัญหาหนี้สิน

ข่าววันที่ :8 ก.ย. 2566

Share

tmp_20231209111455_1.jpg

                นายทวีศักดิ์ จุลเนียม เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม (ระดับจังหวัด) ประจำปี 2566ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกว่า หลังเรียนจบได้เข้าทำงานบริษัทที่กรุงเทพ แต่ทำได้ไม่นานจึงกลับบ้าน  เนื่องจากมีปัญหาหนี้สิน เงินเดือนไม่พอใช้  จึงมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทำสวนมะพร้าว จำนวน 13 ไร่ ทำสวนเกษตร 5ไร่  นอกจากนี้ยังปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่ว่างระหว่างต้นมะพร้าว เช่น ทุเรียน ขนุน กล้วย พืชอาหาร เลี้ยงผึ้ง (ช่วยผสมเกสร) เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู นำมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในสวน

                สำหรับจุดเริ่มต้นในการบันทึกบัญชีเกิดจากจากเมื่อปี พ.ศ. 2560 เกิดวิกฤตราคาผลผลิตมะพร้าวตกต่ำเป็นอย่างมาก จากราคาเฉลี่ยประมาณ 15 บาท/ผล เหลือเพียง 6 บาท/ผล ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ตนเองและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบรายได้ในครัวเรือนไม่เพียงพอ เกิดปัญหาหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ระบบเศรษฐกิจในชุมชนที่เคยเข้มแข็งเริ่มมีปัญหา ในฐานะผู้นำหมู่บ้าน จึงได้รวมตัวกับผู้นำชุมชนอื่นๆ ในอำเภอทับสะแก มาพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยรวมตัวกันเข้าพบผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับคำแนะนำให้จัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้เข้มแข็งก่อน แล้วค่อยจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ตนเองจึงกลับมารวบรวมเกษตรกรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง รวม 54 ราย พื้นที่ 336 ไร่ และขอจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาราคาตกต่ำ แก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง โดยตนเองได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่

                เมื่อมีกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวเกิดขึ้น จึงได้มีข้อกำหนดของกลุ่มว่า สมาชิกทุกคนต้องมีการจัดทำข้อมูลผลผลิต รายรับรายจ่าย ผลประกอบการ ตลอดจนต้องทำบัญชีครัวเรือนเพื่อจะได้ทราบถึงรายละเอียดในการทำอาชีพ โดยยังได้อาสาเข้ารับการอบรมเป็นครูบัญชีอาสาจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แล้วนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้กับสมาชิก จนถึงปัจจุบันสมาชิกทุกคนมีการจัดทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับเปลี่ยนการวางแผน

                ในการดำเนินชีวิตและการทำการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 30 ราย โดยมีการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาในปีพ.ศ. 2564ได้เข้าร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จดทะเบียนจัดตั้งศูนย์เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน บ้านมะเดื่อทอง

                “ข้อมูลทางบัญชีสามารถนำมาวิเคราะห์ และถอดบทเรียนเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนด้านบัญชีให้กับเกษตรกร เยาวชนและประชาชนที่สนใจโดยใช้ตนเองเป็นต้นแบบ มีการวางแผนการผลิตตามแนวคิด “ตลาดนำการผลิต” โดยนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในแต่ละฤดูกาลและกำหนดการเพาะปลูกให้เหมาะสม ทั้งประเภทของสินค้าและห้วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการ ปรับเปลี่ยนการจำหน่ายมะพร้าวจากผลสด มาทำการแปรรูปเป็นมะพร้าวขาว สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่บริเวณบ้านเพื่อลดค่าอาหาร เหลือจากรับประทานจึงนำไปแจกจ่ายให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการในหมู่บ้าน บางส่วนขายเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ ยังช่วยเกษตรกรลดต้นทุนทางการเกษตร โดยการผลิตสารชีวภัณฑ์ ผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง ทำเครื่องดักแมลง ลดการใช้สารเคมีเน้นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชบำรุงดินเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตปริมาณมากและมีคุณภาพ”

                ปัจจุบันได้สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ด้านบัญชี หรือที่เรียกว่าครูบัญชีแถว 2 เพื่อช่วยกันส่งเสริมกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร เยาวชนและชาวบ้านในชุมชน ให้ความสำคัญกับการบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงมือทำเป็นแบบอย่างและนำเสนอผลดีที่ได้จากการทำบัญชี บรรจุเป็นเนื้อหาสำคัญของศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสาน ซึ่งถือเป็นการนำข้อมูลของตนเองมาถอดบทเรียนองค์ความรู้ด้านบัญชีได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วเผยแพร่ให้กับเกษตรกรทั่วไปและผู้ที่สนใจ นำไปปรับใช้ จนทำให้สามารถปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจวบคีรีขันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้

 

ที่มา  :  เดลินิวส์  8 กันยายน 2566
https://www.dailynews.co.th/news/2698075/