เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เรดโอ๊คปลูกไม่ยาก - ต้นไม้ชายคา

ข่าววันที่ :2 ก.พ. 2558

Share

tmp_20150202151719_1.jpeg

              ปัจจุบันการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจะเริ่มได้รับความนิยมกันมากขึ้น ซึ่งผักก็คือส่วนหนึ่งของอาหารที่ได้รับการพิจารณาเลือกมาบริโภค โดยเฉพาะในรูปของสลัด

              ผักเป็นอาหารเพื่อการควบคุมน้ำหนักได้ดี แถมยังมีโภชนาการที่ร่างกายต้องการอีกด้วย ผักสลัดแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งมีปริมาณมากพอควรสำหรับชนิดผัก และหนึ่งในนั้นที่่กำลังได้รับความนิยมและสามารถนำมาเพาะปลูกได้เอง ทั้งเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและเพื่อการค้า เช่น ผักสลัดเรดโอ๊ค เป็นต้น

              ผักสลัดเรดโอ๊ค มีสีออกแดงอมม่วง ร้านอาหารทั่วไป จึงนิยมนำมาใช้แต่งอาหารภายในจาน เป็นผักที่ไม่มีรสขม ถ้าปลูกในสภาวะที่ไม่มีสารละลาย หรืออากาศไม่ร้อนจนเกินไป น้ำหนักผักจะอยู่ที่ประมาณ 8-10 ต้นต่อกิโลกรัม  เป็นผักตระกูลสลัดที่ใบมีสีแดงเข้มมีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง มีกากใยอาหารมาก ย่อยง่าย ช่วยบำรุงสายตา บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงผิวพรรณ ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก และยังช่วยล้างผนังลำไส้ กำจัดพวกไขมันและอนุมูลอิสระที่เกาะตามผนังลำไส้ อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในลำไส้ได้ ผู้คนส่วนใหญ่จะรับประทานแบบสด โดยทำเป็นสลัด หรือเป็นเครื่องเคียงในยำชนิดต่าง ๆ หรือกินคู่กับแหนมเนือง รสชาติคล้ายผักกาดหอมแต่จะหวานกว่า

              ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ มีแปลงสาธิตเพื่อให้ผู้คนที่สนใจเข้าศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกเพื่อนำมาปฏิบัติใช้เองในพื้นที่ของตน ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำแปลงสาธิตบอกว่า หากต้องการปลูกแบบเชิงพาณิชย์ คือปลูกในพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้างหน่อยก็ต้องเริ่มต้นที่ไถเตรียมดินให้ลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-10 วัน จากนั้นย่อยดินให้ละเอียด ยกแปลงให้สูง ประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยฟางข้าวแห้งสะอาดบาง ๆ รดน้ำ และหว่านเมล็ดกระจายให้ทั่วแปลง จากนั้นรดน้ำ 1 ครั้ง เมื่อต้นเริ่มงอก เมื่อมีใบจริง 2-3 ใบ ก็ให้ถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ไม่ต้องเสียดาย โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้นสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง

              ด้านการบำรุงรักษานั้นให้เน้นการปรับปรุงบำรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตรา 1,000-1,500 กิโลกรัมต่อไร่ และหมั่นสำรวจดูโรคและแมลงรบกวนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ หากพบการบุกเข้าทำลายของแมลงให้ใช้สารสมุนไพรฉีดพ่นทำลาย และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวันเช้าและเย็น  หากดูแลตามที่กล่าวมาหลังปลูกประมาณ 40-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวมาบริโภคหรือส่งจำหน่ายในท้องตลาดได้


ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์