เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

อนาคตเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0

ข่าววันที่ :23 มิ.ย. 2559

Share

tmp_20162306095953_1.jpg

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

          รองนายกรัฐมนตรี

          ผมเพิ่งเดินทางกลับจากการเยือนประเทศอินเดียกับท่านนายกรัฐมนตรี การเดินทางครั้งนี้เพื่อถือโอกาสดูว่ามีหนทางใดบ้างที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-อินเดียให้แน่นแฟ้นขึ้น  ขณะนี้อินเดียกำลังดำเนินนโยบายมองตะวันออก รุกตะวันออก (Look East, Act East) หมายความว่า อินเดียเริ่มมองทางตะวันออกโดยเล็งมาที่อาเซียน และต้องการ ให้ไทยเป็นประตูเพื่อเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ไทยก็ดำเนินนโยบายมองตะวันตก รุก ตะวันตก (Look west, Act west) คือมองไปทางตะวันตกโดยต้องการให้อินเดียเป็นจุดเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC (มีสมาชิก 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน) โดยให้ประเทศอินเดียเป็นหลักเพื่อเปิดการค้าและการลงทุน ดังนั้นการเดินทางของท่านนายกฯ ครั้งนี้ถือเป็น State Visits ที่ดีมากในสถานการณ์โลกขณะนี้

          อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวที่มองประเทศไทยในลักษณะนี้ ยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 6 ล้วนต้องการเชื่อมโยงกับอาเซียนโดยใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน ส่วนประเทศจีนกับประเทศไทยนั้นมีสัมพันธ์ฉันพี่น้องมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าจีนก็มองไทยเป็นเกตเวย์สำคัญของอาเซียน รัสเซียต้องการเชื่อมโยงยูเรเซีย กับอาเซียน โดยอาศัยไทยเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างอนุภูมิภาค อิหร่านกับโอมาน ซึ่งเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศในแถบคาบสมุทรอารเบียน ก็มองว่าจะผูกสัมพันธ์กับประเทศไทยในฐานะประตูสู่อาเซียนเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาค ถ้ามองทางภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการขณะนี้คือการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตการต่างประเทศให้ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคที่มีความสำคัญ และในไม่ช้าเราจะมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งจะจัดประชุมร่วมกับกลุ่ม BRICS คือ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และประเทศไทยก็จะเข้าร่วมการประชุมช่วงปลายปีนี้

          นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประธานของการประชุม G77 และเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CLMVT เป็นครั้งแรก  โดยพฤตินัยเสมือนหนึ่งว่าประเทศไทยคือผู้นำของ CLMVT สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นโดยง่าย การที่ท่านนายกฯ เดินทางเยือนต่างประเทศบ่อยก็เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ และการดำเนินลักษณะทางการทูตแบบนี้ ไทยจะมีทั้งมิตรประเทศที่เพิ่มขึ้น และสามารถกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ก็เพื่ออนาคตของประเทศไทยทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จะทาอย่างไรให้ประเทศไทยโดดเด่นที่สุด น่าดึงดูดมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหลาย นอกเหนือจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งที่ไม่มีใครสู้ประเทศไทยได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างชาติจะตัดสินใจทำการค้าการลงทุนนั้น คือเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง สิ่งสำคัญคืออย่าให้เกิดความสับสนวุ่นวาย อย่าให้เป็นรัฐที่ล้มเหลว ฉะนั้นโชคชะตาของประเทศจึงขึ้นกับ คนไทยทุกคนร่วมมือกัน

          ทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอนว่าต้องพุ่งเป้ามาที่จีดีพีรัฐบาลใช้เวลาเพียง 6 เดือนพิสูจน์ว่าจะไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดตามโลก ไตรมาสหนึ่งถือว่าได้ตามเป้าแล้ว  ครึ่งปีที่เหลือหลายส่วนเราควบคุมได้ แต่หลายส่วนขึ้นกับสถานการณ์โลก ขึ้นกับการส่งออก สถานการณ์โลกยังไม่ค่อยดีแน่นอน ฉะนั้นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คือเอเชียต้องพึ่งพากัน ที่กล่าวว่า Asia Rising เป็นเรื่องจริง ปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจพอสมควร โดยเฉพาะในอาเซียนถือว่าโตสูงมาก หลายประเทศพอใจกับการที่ไทยเติบโต  3.2% ในไตรมาสแรก แต่ในใจพวกเขายังมีคำถามตลอดเวลาว่า ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้ ประเทศไทยจะสามารถเติบโตยั่งยืนได้อย่างไร คำตอบของผมมีอยู่ว่า ในรัฐบาลของท่านนายกฯ  มีปรากฏการณ์ 3 สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าไทยสามารถยืนอยู่ได้

          ปรากฏการณ์แรก คือ ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศ

          การปฏิรูปไม่ใช่ทำเฉพาะในสภา แต่ทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทั้งการดำเนินการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศ และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยมี 3 ประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลมุ่งเน้น

          ประเด็นแรก การลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลมุ่งเน้นปฏิรูปความเหลื่อมล้ำโดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง คือ การบรรเทาให้เกษตรกรมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ และเผชิญภัยแล้ง อีกส่วนหนึ่งคือ เปลี่ยนระบบปฏิรูปการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น ให้มีความทันสมัยมากขึ้น  สิ่งสำคัญคือความไม่เท่าเทียมทางโอกาส เพราะในอนาคตในยุคซึ่งเทคโนโลยีกำลังจะเข้ามา ช่องว่างนี้จะยิ่งถูกทำให้ห่างออกไปมากขึ้น เพราะคนจนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะสร้างมูลค่า รัฐบาลต้องเข้าช่วยในสิ่งเหล่านี้

          ประเด็นที่สอง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันสินค้าและบริการหลายอย่างในอุตสาหกรรมของเราเริ่มแข่งขันไม่ได้ จึงต้องรีบปรับเปลี่ยนยกระดับขึ้นมาให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นที่รัฐบาลเรียกว่ายุค 4.0 ความหมายก็คือ ต้องการเน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่า การเพิ่มนวัตกรรม การลงทุนในการค้นคว้าวิจัย นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการจะสร้างระบบที่เรียกว่า "Cluster" คลัสเตอร์อาหาร คลัสเตอร์เกษตร คลัสเตอร์สินค้าไฮเทค คลัสเตอร์ Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) เรื่องการออกแบบ ศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้บวกเข้าไปในสินค้าที่ผลิต บวกไปในการท่องเที่ยว ดึงดูดคนเข้ามา จับจ่ายใช้สอยสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้น รายได้ก็จะมีการกระจายออกไป ทุกอย่างต้องมีการลงทุน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามมุ่งเน้นตลอดเวลา

          ประเด็นที่สาม เมื่อลงทุนในด้านการวิจัยพัฒนาทางเทคโนโลยีแล้ว ต้องสร้างนักรบรุ่นใหม่ขึ้นมา ดูอย่างประเทศจีน ซึ่งผมเชื่อว่าจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นประเทศแรก เพราะจีนพลิกเร็ว  ผู้นำจีนเน้นเรื่องนวัตกรรม เน้นเรื่องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Mass Start-Up คือสมัยนี้จีนก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยี ในขณะที่คนไทยยังเสพสื่อทางอินเทอร์เน็ต แต่ชาติอื่นที่เจริญเขาใช้ Internet Platform เป็นสื่อกลางแห่งการค้า สร้างธุรกิจบน Platform ของอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊วที่ล้าสมัย แต่ยิงผ่านโลกโดยตรง สามารถสร้าง Mass Start-Up ทั้งประเทศ ที่เรียกว่า Mass Entrepreneur นี่คือสิ่งที่เรากำลังพยายามทำกันอยู่ ฉะนั้นรุ่นลูกหลานต้องก้าวสู่ รูปแบบนี้ทั้งนั้น เพราะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในขณะนี้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าขาดปรากฏการณ์ที่สอง

          ปรากฏการณ์ที่สอง คือ ปรากฏการณ์การลงทุน

          ประเทศไทยโชคดีมากที่รัฐบาลมีความคิดที่จะลงทุนในเมกะโปรเจกต์ พอเศรษฐกิจทรุด ภาครัฐได้เร่งดำเนินการตลอด 6 เดือนเต็ม จนออกผลในจังหวะที่ควรออกผล  ทั้งหมดที่ลงทุนขอย้ำว่าไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลงทุนใน Physical Infrastructure เป็นการยกระดับประเทศไทยขึ้นมาให้เป็นประเทศที่น่าดึงดูดในการลงทุน  เกิดการเชื่อมโยง นี่คือหัวใจหลัก และที่รัฐบาลกำลังส่งเสริม นอกจากการเชื่อมโยงอาเซียนจากเหนือ-ใต้-ออก-ตก สิ่งสำคัญที่สุดคือ Eastern Economics Corridor (แนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก) เดิมทีเรามีกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง แหลมฉบัง-มาบตาพุด เป็นแหล่งผลิตและส่งออก ต้องการพัฒนาจุดนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ขยายไปจนถึงระยอง สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงพัฒนาท่าเรือระยอง สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเชิงพาณิชย์  เรียกตรงนี้ว่า Eastern  Economics Corridor  เป็นแหล่งที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมูลค่านับล้านล้านบาท เป็นแหล่งที่จะเป็นวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมระดับสูง นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องการ และเราจะทำให้สำเร็จในเร็ววัน

          การลงทุนที่สำคัญมากที่จะทำให้ 4.0 เกิดขึ้นได้ คือ "ดิจิทัล" ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนจากระบบ อะนาล็อกเป็นดิจิทัลแล้ว ทุกประเทศคู่ค้าของเราก็เป็นดิจิทัลถ้ากระบวนการผลิตของเราไม่พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่พัฒนาระบบตลาดให้เชื่อมโยงในระบบดิจิทัลแล้วเราจะเข้าสู่ Value Chain ของโลกได้อย่างไร ถ้าธุรกิจใดยังไม่ยอมลงทุน ก็ขอให้ลงทุนปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรการผลิตให้ดีเพื่อดักหน้าความเจริญที่จะเกิดขึ้น  รัฐบาลสนับสนุนเรื่องการลงทุนให้สิ่งจูงใจเป็นพิเศษ ภาษาจีนมีคำกล่าวว่า "ในยามซึ่งเมฆหมอกสูง จงลับเขี้ยวเล็บของท่าน" โลกยังไม่ดี จงลับอาวุธของท่านให้คม  ท่านต้องนำเงินไปลงทุนทำให้ท่านมีเขี้ยวเล็บ เขาทำการค้าผ่านการทำอี-คอมเมิร์ซกันอย่างไร พัฒนาบุคลากร เตรียมสู้รบ ในเวลาที่ฟ้าเปิด  โลกดีขึ้น ท่านจะได้รบแข่งขันกับทุกประเทศได้

          ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง การลงทุนของเอกชนเทียบกับจีดีพีลดลงจาก 30% เหลือแค่ไม่ถึง  20%มีแต่เอกชน ต่างประเทศมาลงทุนในไทย ฉะนั้นถ้าจะขับเคลื่อนไทยไปให้ได้ ท่านต้องลองกลับมาพิจารณาว่าโครงการไหนที่ท่านอยากลงไปร่วมสู้ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าด้วยกัน

          ปรากฏการณ์ที่สาม คือ ปรากฏการณ์ AEC ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นจากภายนอก ตั้งแต่เปิด AEC เริ่มเจรจาลดหย่อนอุปสรรคต่างๆ การส่งออกไทยไปอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% นักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนไทยในอาเซียนเพิ่มจากร้อยล้านเหรียญกลายเป็นพันล้านเหรียญ นี่คืออานิสงส์ที่เป็นแรงขับจากภายนอกที่หนุนส่งเรา ยิ่งเพื่อนบ้านเราดีมากเท่าไรยิ่งดี เราต้องช่วยสนับสนุนให้เขาดีขึ้น นี่เป็นนโยบายของท่านนายกฯ โดยตรง  ถ้าท่านเป็นพ่อค้าต่างชาติ หากจะตั้งโรงงานศูนย์กลางจะเลือกที่ไหน เห็นได้ว่าไทยจะมีโอกาสสูงสุด ฉะนั้นต้องช่วยให้เพื่อนบ้านเจริญขึ้น และทำตัวเราให้มีเสน่ห์ นั่นคือวิธีการของพ่อค้าที่ชาญฉลาด

          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในที่คอยหนุนเราด้วย ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีแรงสนับสนุนจากเอกชนและประชาชนมากเท่าครั้งนี้ "ประชารัฐ" เกิดขึ้นโดยความคิดแค่ 5 นาที  เกิดขึ้นเพราะรู้ว่ารัฐฝ่ายเดียวทำไม่ได้ เอกชนฝ่ายเดียวก็ทำไม่ได้ ประชาชนฝ่ายเดียวก็ทำไม่ได้ ต้องมารวมกัน พลังนี้เราจึงเรียกว่า "พลังประชารัฐ" พอประกาศออกไป ขณะนี้หยุดไม่อยู่แล้ว  เอกชนเข้ามารุ่นแล้วรุ่นเล่า ผมเพิ่งขออนุญาตท่านนายกฯ ว่าขอตั้งคณะที่ 13 เป็น "ประชารัฐภาคสังคม"  ถ้าเอกชนไม่อยากทำเรื่องเศรษฐกิจก็สามารถทำเรื่องสังคมได้ ขณะนี้คนชราเพิ่มขึ้นทุกวัน ฉะนั้นต้อง ดูแล   ดูแลเด็กวัยก่อนเข้าเรียน โรงเรียนไม่ต้องรอรัฐ  เอกชนช่วยสร้างโรงเรียนสมัยใหม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นพลังร่วมอย่างมาก บริษัทญี่ปุ่นทั้งหลายผมสนับสนุนเชิญเข้ามาช่วยประชารัฐหมด เพราะ มีงบด้าน CSR  สามารถนำมาสร้างโรงเรียน มาฝึกแรงงาน มาช่วยพยาบาลผู้คน เพราะรัฐบาลเงินน้อยจะพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องการเอกชนยื่นมือเข้าช่วย อะไรที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเอกชนได้ รัฐบาลก็ยินดีช่วยเหลือกลับคืนไป

          ดังนั้น รัฐบาลต้องการขอความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน เพราะทุกท่านคือพ่อค้ารุ่นพ่อ ซึ่งเป็นตัวอย่างของรุ่นลูก เราอาศัยอยู่ที่เมืองไทยตั้งแต่เรายังเด็ก เราแข็งแรงขึ้นมา ร่ำรวยขึ้นมาได้ ก็เพราะประเทศไทยสนับสนุนทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้ามีอะไรที่ช่วยประเทศได้ เราต้องช่วยตอนนี้ ขอย้ำว่าสองสามปีนี้เป็นจุดพลิกผันของประเทศที่สำคัญมากๆ ฉะนั้นท่านต้องแสดงพลังออกมา ต้องช่วยกัน ถ้าท่านมีพลังสูงลูกท่านก็จะมีพลังสูง และให้ลูกของท่านเข้ามาช่วยส่งเสริม เปลี่ยนความคิดให้เป็นสมัยใหม่ ออกมาช่วยสังคมให้มากขึ้น ผมอยากเห็นหอการค้าไทย-จีน และสมาคมแซ่ทั้งหลายออกมาทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น การมีสมาคมต่างๆ จึงจะมีประโยชน์ มีคุณูปการต่อสังคมและประเทศชาติ

          หอการค้าไทย-จีน ได้สรุปปาฐกถาพิเศษของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในงานประชุมทิศทางเศรษฐกิจปี 2559 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2559 ณ หอประชุม กวง ฮั่ว ตึ้ง ชั้น 9 อาคารหอการค้าไทย-จีน

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 มิถุนายน 2559