เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ลุ้นเคาะภาษีบุคคลธรรมดา เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าววันที่ :11 ม.ค. 2559

Share

tmp_20161101134659_1.jpg

          เปิดศักราชพ.ศ.ใหม่ ประเดิมปี 59 “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็เริ่มงานทันที โดยเรียกบรรดาผู้บริหารกระทรวงการคลัง มาตรวจความคืบหน้า “การปฏิรูปภาษี” งานหลักงานใหญ่ของประเทศที่ต้องเดินหน้าสานต่อให้สำเร็จ ทั้งภาษีใหม่และภาษีเก่ารวมกว่า 46 ฉบับ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลเป็นการถาวร ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง ภาษีสรรพสามิตจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพทั้งเครื่องดื่มที่มีความหวาน น้ำมันหล่อลื่น และการปรับปรุงภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้า เร่งเดินหน้าปฏิรูป ด้วยเวลาที่เหลืออีกเพียง 1 ปีครึ่ง ที่เป็นข้อจำกัด ทำให้การเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องทำอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี หลังจากที่ผ่านมายังไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันชัดเจน เพราะติดหล่มปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายควรจะเป็น ประกอบกับการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐไม่สามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าภาษีที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพราะต้องการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่น ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยนั้นที่มีทั้งการปรับปรุงกฎหมายภาษีเดิม หลังจากถูกใช้มาเป็นเวลานานแต่ไม่มีการผลักดันจากนโยบายรัฐบาลชุดก่อน ๆ และการเพิ่มภาษีใหม่ ๆ เข้ามาแทนภาษีตัวเก่า เพื่อพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสินค้าและผู้ประกอบการ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพิ่มขึ้นป้องกันการสูญเสียเงินรายได้ เพื่อสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างยั่งยืน ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลผู้มีอำนาจเต็ม หลุดออกจากกับดัก ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้รัฐบาลหลุดออกจากกับดักเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขยายตัวได้ คือ “การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ” ผ่าน 3 กรมภาษีจัดเก็บรายได้ ทั้งกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากรเนื่องจากมีความจำเป็นต่อรัฐบาลอย่างมาก เพราะ “ภาษี” ถือเป็นรายได้หลักที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณเพื่อนำมาบริหารประเทศ การลงทุน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งสาเหตุที่ต้องปฏิรูปภาษีเนื่องจากที่ผ่านมาการจัดเก็บช่วงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวประกอบกับปัญหาการเมืองของประเทศ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมากดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบจะช่วยเข้ามาเพิ่มศักยภาพการลงทุนและการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 59 เป็นปีของการลงทุน ลดภาษีบุคคลธรรมดา เริ่มด้วย “ภาษีบุคคลธรรมดา” ที่กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร หมายมั่นปั้นมือ ด้วยการวางแผนกำหนดระยะเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพราะเตรียมเสนอแนวทางการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และครม. พิจารณาและเห็นชอบ ภายในไตรมาสแรกของปี 59 เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและให้มีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 60 ที่จะยื่นแบบและเสียภาษีในปี 61 สำหรับสาระสำคัญของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเชื่อว่าจะทำให้ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดามีภาระในการเสียภาษีลดลง ส่งผลต่อความสุขในชีวิตของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากการเสนอครั้งนี้กรมสรรพากรได้เสนอลดอัตราภาษีอัตราภาษีจากเดิมที่สูงสุด 35% เหลือเพียง 30% เท่านั้น พร้อมทั้งขยายวงเงินการหักค่าใช้จ่ายเหมารวมที่ปัจจุบันได้ 60,000 บาท เพื่อให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงอัตราค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันรวมถึงการพิจารณาค่าหักลดหย่อนในส่วนของบุตรจะไม่จำกัดจำนวนคนและการหักลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติม ที่ช่วยลดภาระทางภาษีให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น ถือเป็นการหว่านล้อมแบบโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้น หวังสร้างความเป็นธรรม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีบุคคลธรรมดายื่นแบบชำระภาษีมีกว่า 10 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีจริงประมาณ 6-7 ล้านรายเท่านั้น หากจำแนกออกมาจะพบว่าผู้มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาท ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุด 35% อยู่ 1-2%ของผู้ที่ยื่นแบบทั้งหมด ถือเป็นจำนวนไม่มาก และการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ต่อผู้มีรายได้มากและน้อยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลต้องการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะสอดคล้องกับอัตราภาษีนิติบุคคลที่เสียอยู่ 20% และเสียภาษีเงินปันผลอีก 8% รวมเป็น 28% ซึ่งหากลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 35% เหลือ 30% ก็จะมากกว่าภาษีนิติบุคคลธรรมดา 2% เท่านั้น ขณะเดียวกันจากเดิมที่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ไม่มีภาระภาษีต้องเสียอยู่แล้วแต่การปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่ทำให้ผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนจะไม่มีภาระเสียภาษีอีกด้วย ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็ถือว่ากรมสรรพากรดำเนินการได้เหมาะสมเพราะลดเพดานภาษีเพื่อคนที่มีรายได้มากแต่ขยายฐานให้กับผู้มีรายได้น้อยที่กำลังตั้งตัวนั่นเอง สะท้อนความเป็นจริง ยิ่งไปกว่านั้น กรมสรรพากรมีแนวคิดจะดำเนินการปรับปรุงค่าใช้จ่ายที่ประชาชนนำมาใช้หักค่าลดหย่อนภาษี ให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นกำลังการบริโภคภายในประเทศ และเมื่อนำมารวมกับผลจากมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน จะช่วยส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (จีดีพี) ขยายตัวได้ดีมากกว่า 2.9% เชื่อว่าการที่รัฐบาลกำลังพยายามให้จีดีีพีของไทยกลับไปโตที่ 5% ในระยะ 10 ปีข้างหน้า เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถดถอยนั้น คงไม่ยากเกินแก้ไข เพราะจากนโยบายการเร่งกระตุ้นลงทุน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ จะช่วยทำให้จีดีพีสามารถได้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน พิจารณาต้องรอบคอบ ในทางกลับกัน การปรับลดอัตรา “ภาษีบุคคลธรรมดา” ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะรัฐบาลคงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างมากเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าการปรับลดอัตราภาษีแต่ละครั้งส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลงไปด้วยยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้การขยายฐานผู้เสียภาษีของรัฐบาลคงไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพราะเมื่อนำมาพิจารณาถึงการขยายผู้ที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนจะไม่มีภาระเสียภาษีแล้ว ทำให้ฐานผู้ที่เสียภาษีที่มีอยู่ยุติลงรวมไปถึงผู้มีรายได้หน้าใหม่ก็ไม่ต้องเข้าระบบไปโดยปริยาย หากรัฐบาลต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีรายได้ตามที่กำหนดไว้เสียภาษีทั้งหมดจะดีกว่าเพราะต่อให้มีการลดอีกครั้งก็ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียภาษีที่ผ่านมาก็เป็นได้ นอกจากนี้ คงต้องพิจารณาอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการหักลดหย่อนภาษี เกี่ยวกับเรื่องการบริจาค ว่าควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าไม่มีการบริจาคจริงแต่นำมาหักลดหย่อนภาษี ส่งผลกระทบต่อรัฐที่ทำให้สูญเสียรายได้ซึ่งหากจะให้มีการหักค่าบริจาคต่อไปกรมสรรพากรต้องตรวจสอบได้ว่าผู้นำมาขอลดหย่อนนั้นมีการบริจาคจริง ต้อนเอสเอ็มอีเข้าระบบ สิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ก็คือการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไม่ตรวจเอาผิดภาษีย้อนหลัง และพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีนิติบุคคลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 ที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการนิติบุคคลที่รายได้ปี 58 ไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่เข้าโครงการให้มาลงทะเบียนตั้งแต่ 15 ม.ค.-15 มี.ค. 59 หรือมีเวลา 60 วัน พร้อมกับจดแจ้งการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีย้อนหลังที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค.59 ทั้งหมดแม้ทำให้เสียรายได้ 10,000 ล้านบาท แต่จะเก็บภาษีทางตรงและทางอ้อมได้เพิ่มขึ้นและเมื่อถึงปี 62 กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำกับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอนุมัติสินเชื่อจากหลักฐานทางบัญชีของผู้ประกอบการที่เป็นบัญชีเดียวกันกับที่ยื่นกรมสรรพากร ทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าการปรับลด อัตราภาษีบุคคลธรรมดา ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างถาวรแต่สุดท้ายก็คงต้องคิดให้รอบคอบว่าการขยายฐานให้กับผู้ไม่เสียภาษีหรือปรับอัตราเพดานสูงสุดลงจะสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยได้หรือไม่คงต้องติดตาม. วุฒิชัย มั่งคั่ง “เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า แนวคิดการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับลดเพดานจาก 35% เหลือ 30% และการขยายฐานให้กับผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน จะไม่มีภาระเสียภาษีนั้น เชื่อว่าระยะสั้นอาจไม่เห็นผล เนื่องจากเป็นการยื่นเสียภาษีของปี 61 ที่เป็นรายได้ในปี 60 แต่มองว่าเมื่อถึงเวลานั้น จะช่วยลดภาระให้กับประชาชนให้มีการเสียภาษีที่ลดลง ส่งผลในทางอ้อมที่ทำให้ประชาชนสามารถนำเงินที่มีอยู่ไปใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ในระดับล่างถึงระดับกลาง ทั้งนี้ เชื่อว่าการปรับลดดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจช่วงปี 60 คาดว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านมาตรการลงทุนของภาครัฐที่ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนการปรับลดจะทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีนั้น มองว่ากระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการไว้รองรับแล้ว เหมือนกับมาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ในส่วนของการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง “ธนวัฒน์ บุตรน้ำเพ็ชร” พนักงานบริษัทเอกชน ระบุถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ว่า ส่วนตัวยังไม่เข้าใจถึงการเสียภาษีมากนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน แต่หากรัฐบาลจะขยายฐานของผู้เสียภาษี มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ หรือผู้ที่กำลังเริ่มทำงานสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะบางสายงานฐานเงินเดือนค่อนข้างสูง หากการเพิ่มสัดส่วนของเงินเดือน เป็นเดือนละ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่ต้องมีภาระทางภาษี จะทำให้คนทำงานมีเงินเก็บ และมีกำลังใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย “หากรัฐบาลดำเนินมาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกิดได้จริง ก็จะเป็นผลดีมาก รวมถึงยังเป็นการเตรียมพร้อม สำหรับผู้เริ่มทำงานที่ยังไม่รู้จักระบบการเสียภาษี ให้ได้เตรียมตัวและศึกษาก่อนที่จะเข้าระบบจริง ๆ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจต่อการเสียภาษีมากขึ้น อย่างไรก็ดี อยากเสนอให้รัฐบาลสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือประชาชนมีภาระทางภาษีเข้าใจถึงการเสียภาษีให้ง่ายขึ้น” “ศิริภรณ์ ทัพไพรี” พนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ส่วนตัวอยู่ในเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% โดยหากรัฐบาลมีการปรับโครงสร้างภาษีแบบใหม่อาจส่งผลดีต่อตัวเองพอสมควร แต่ในอีกมุมนึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องปรับลดก็ได้ เพราะการจ่ายภาษีถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาประเทศชาติ และ เชื่อว่าหลายคนคงไม่คิดเล็กคิดน้อย เพราะหากประเมินจริง ๆ ประชาชนทุกคนเสียภาษีกันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สำหรับสิ่งที่ต้องคิดหนักมากกว่าคือการนำเงินภาษีที่ได้จากประชาชนไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะนำไปบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่ประชาชนไม่ค่อยได้รับรู้รายละเอียดในส่วนนั้น แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมรัฐบาลคือเรื่องรถโดยสารฟรี ที่ใช้เงินจากภาษีประชาชนได้ค่อนข้างถูกจุด เพราะแม้จะมีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป แต่หลายคนยังต้องพึ่งพารถฟรีกันอยู่ เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันเช่นกัน ขณะเดียวกันอยากให้ลดหย่อนเรื่องเงินดูแลบิดา-มารดาซึ่งปัจจุบันต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น อยากให้ปรับลดลงกว่านี้เพราะเชื่อว่าหลายคนจะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุด
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 11 มกราคม 2559