เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เตือนเกษตรปลูกมัน ระวังโรคโคนเน่าหัวเน่าช่วงฝนชุก

ข่าววันที่ :28 ต.ค. 2558

Share

tmp_20152810155714_1.jpg

รายงานข่าวจากกรมวิชาการเกษตรแจ้งว่า เตือนเกษตรกรในช่วงฝนตกหนักติดต่อกันมักเกิดการระบาดของโรคโคนเน่าและหัวเน่ามันสำปะหลังจากเชื้อไฟทอบเทอร่า เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์สูง ดินมีการระบายน้ำได้ไม่ดี มักเกิดโรคในช่วงที่มันสำปะหลังสร้างหัวและสะสมแป้ง โดยมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบเหลือง เหี่ยว และร่วง โคนต้นแตกบริเวณคอดิน โดยเฉพาะพันธุ์ห้วยบง 60 เมื่อลองขุดดูจะพบว่าหัวเน่า ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หัวมันสำปะหลังที่เกิดจากการเน่า น้ำจะมีกลิ่นเหม็นแต่หัวมันสำปะหลังที่เน่าจากเชื้อไฟทอบเทอร่า จะไม่มีกลิ่นเหม็น

ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรสำรวจแปลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในช่วงฝนตกชุกต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป หรือมากกว่า 100 มิลลิลิตรต่อวันให้สำรวจทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคหัวมันสำปะหลังเน่าจากเชื้อไฟทอบเทอร่า โดยพื้นที่ระบาดวิกฤติ พบต้นแสดงอาการมากกว่าร้อยละ 50 ให้ไถทิ้งเก็บซากเผาทำลาย ตากดิน เปลี่ยนชนิดพืชปลูก ให้เปลี่ยนปลูกพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น อ้อย ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว โดยพิจารณาความเหมาะสมด้านการตลาด

สำหรับพื้นที่ระบาดรุนแรง พบต้นแสดงอาการมากกว่าร้อยละ 30-50 มันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือนให้ไถทิ้ง เก็บซากเผาทำลายนอกแปลง ตากดิน เปลี่ยนพืชปลูก มันสำปะหลังอายุ 4-7 เดือนใช้ปูนขาวหว่านรอบแปลง ให้เร่งเก็บเกี่ยวทันที และเปลี่ยนพืชปลูกที่ไม่ใช่พืชอาศัย มันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป ให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที เปลี่ยนพืชปลูก ให้ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของเชื้อ

ส่วนในพื้นที่ระบาดปานกลางหรือระบาดน้อย พบต้นแสดงอาการตั้งแต่ร้อยละ 10-29มันสำปะหลังอายุ 1-7 เดือน ให้ขุดถอนไปทำลายและใช้ปูนขาวหว่านโดยรอบ เพื่อปรับสภาพดินทำให้เชื้อไม่ขยายเพิ่ม ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านหรือโรยบริเวณที่ขุดมันสำปะหลังออก และบริเวณโดยรอบห่างจากขอบบริเวณที่มันสำปะหลังแสดงอาการเป็นรัศมีออกมา 1 เมตร โดยใช้อัตราส่วนไตรโคเดอร์มา1 กิโลกรัม รำละเอียด 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปหว่านในแปลงอัตรา 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร ฉีดพ่นหรือราดลงดินอัตราส่วนเชื้อราไตรโคเดอร์มา 0.5 กิโลกรัมผสมน้ำ 100 ลิตร และในมันสำปะหลังอายุ 8 เดือนขึ้นไป ให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที

http://www.naewna.com