เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

บทพิสูจน์ผลงานกับ 1 ปีที่ผ่าน สะท้อนคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ข่าววันที่ :30 ธ.ค. 2557

Share

tmp_20143012161328_1.jpg

 

ที่มา : มติชน  5 ม.ค. 53 น.19 

 

          หมายเหตุ : ผ่านพ้นไปหนึ่งปีแล้ว สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การบริหารงานของ นายธีระ วงศ์สมุทร บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นข้าราชการลูกหม้อคนหนึ่งของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนที่ชะตาชีวิตจะพลิกผันได้เติบโตแบบก้าวกระโดดจากตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน มานั่งแท่นในตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ คนปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสข่าวลือถึงใบสั่งว่า เขาคือคนโปรด ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายใหญ่แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา

          "มติชน" มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับ รมว.เกษตรฯ เพื่อเปิดใจถึงการทำงานในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ว่าเป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังไว้หรือไม่

          ๐ ประเมินผลการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

          ไม่ขอประเมินผลงานของตัวเอง แต่คงต้องบอกว่าพอใจ เพราะเราก็ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งฟังจากผลการประเมินของโพลสำนักต่างๆ ที่ออกมา ระบุว่าการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก็รู้สึกพอใจมาก สำหรับผลงานที่คิดว่าประสบความสำเร็จ ก็คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งถือเป็นด่านแรกของการทำโครงการนี้ เราก็ทำงานได้เรียบร้อยดี แม้ในขั้นตอนจะประสบปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานมีน้อยเพียงไม่กี่เดือน แต่ถ้าดูผลของงานที่ออกมาก็คิดว่าพอใจ

          ในส่วนงานที่เคยพูดไว้ 3 เรื่อง ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ครั้งแรก ว่าจะพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพเกษตรกร และสถาบันการเกษตร การผลิตสินค้าและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้ก็เริ่มมีความคืบหน้าตามลำดับ

          สำหรับการผลักดันดฎหมายจัดตั้งสภาเกษตรกร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาวาระหนึ่งไปแล้ว แต่งานของกระทรวงเกษตรฯยังไม่หมด จะหมดหน้าที่ก็จนกว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่การเกษตร อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภา ตามขั้นตอนต่อไป         

          ๐ มีหลายเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่างานที่ออกมาไม่โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับกระทรวงเกษตรในยุคก่อน

          ที่มาของผมไม่ใช่นักการเมือง เป็นข้าราชการประจำ และสิ่งที่พูดย้ำให้กับเพื่อนข้าราชการฟังทุกวันนี้ คือ ขอให้ช่วยกันดูแลงานในกรมที่ตัวเอง รับผิดชอบให้ดี อย่างไม่มีปัญหา เพราะทุกวันนี้ การที่กระทรวงเกษตรฯไม่ค่อยมีข่าวเสียหายออกมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาเลย

          ส่วนปัญหาในอดีตที่คั่งค้างมา ก็ให้หาทางแก้ไขปัญหาให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโคล้านตัว กล้ายาง หรือเรื่องลำไยอบแห้งซึ่งในส่วนของลำไยอบแห้ง การที่ผมสามารถผลักดัน ให้มีการทำลายลำไยเก่าค้างสต๊อกไปได้หมด ถือเป็นการยกภูเขาออกจากออกไป และป้องกันไม่ให้ลำไยส่วนนี้เข้ามาวนเวียนสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นอีก

          ส่วนขั้นตอนการเผาทำลายที่เบื้องต้นได้คนกลางอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารับผิดชอบให้ ก็คิดว่าทุกอย่างจะได้โปร่งใส แต่ถ้าหลังการเผาทำลาย กระทรวงวิทย์ตรวจสอบพบว่า ลำไยของกลางจำนวน 4.6 หมื่นตัน อยู่ไม่ครบ ใครเกี่ยวข้องก็รับผิดชอบไป

          ๐ แต่มีคนบอกว่าการเมือง เป็นเรื่องของอำนาจ และอำนาจมักจะทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป

          ใครจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ผมไม่รู้ แต่สำหรับผมตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพียงแต่สิ่งที่เป็นขณะนี้ ต้องสวมหมวกสองใบ คือ เป็นข้าราชการ และเป็นนักการเมืองมีสองบทบาท แต่จิตวิญญาณก็ยังเป็นข้าราชการเหมือนเดิม  

          ๐ ตั้งแต่นั่งทำงานในตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ เคยมีเรื่องต้องฝืนใจไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำบ้างหรือไม่

          (หัวเราะ) ไม่มี ผมทำงานตามหน้าที่ปกติ

          ๐ การทำงานทีผ่านมายังเป็นตัวของตัวเองอยู่

          ผมยังยึดหลัก มัชฌิมาปฏิปทา(เดินทางสายกลาง) อยู่ ที่สำคัญต้องทำงานมากกว่าพูด

          ๐ ช่วงนี้มีข่าวเรื่องการปรับ ครม.เสียวจะโดนปรับออกบ้างหรือไม่

          ไม่มีเสียว(เสียงแข็ง) ที่มาที่ไปของผมมีควมมชัดเจน ใครที่รู้จักผมก็จะรู้ โตมาจากสายงานข้าราชการประจำ ไม่ได้ยึดติดตำแหน่งหน้าที่ หรือเก้าอี้ หากเห็นว่าผมยังเป็นประโยชน์ให้ทำงานก็ทำต่อ ถ้าไม่ให้ทำก็ไม่ทำ

          ๐ หากรัฐบาลประกาศยุบสภา จะลงเล่นการเมืองเต็มตัวหรือไม่

          ยังไม่ได้คิด ขอทำงานตามหน้าที่ก่อน

          ๐ งานนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ในปี 2553 จะมีอะไรบ้าง

          ภาระแรกที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง คงจะเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตรเป็นรายชนิด ทั้งคุณภาพ และลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังทำให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่พูดแล้วก็ปล่อยผ่านไป นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาในเรื่องการสร้างสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งและสร้างเกษตรรุ่นใหม่ ขึ้นมาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่เริ่มจะห่างหายไปมากแล้วทั้งที่เป็นอาชีพสำคัญของประเทศไทย

          ส่วนเรื่องใหญ่ ที่จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ก็คือ 1.การจัดตั้ง พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อดูแลชีวิตชาวนาที่อยู่ในวัยเกษียณอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือ กบข.เกษตรกร สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ จะกำหนดเงื่อนไขให้ เกษตรกรออกเงินหนึ่งส่วน รัฐบาลสมทบเพิ่มให้อีกสองส่วน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)

          2.การจัดตั้งกองทุนรับประกันความเสี่ยงผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ฝนแล้ง เบื้องต้นได้เสนอเข้าบรรจุวาระการพิจารณาของที่ประชุม ครม.ไปแล้ว ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากกองทุนนี้เกิดขึ้นได้จริง รัฐบาลจะไม่ต้องเสียเงินชดเชยปัญหาเรื่องผลผลิตที่เสียหายของเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาทต่อปี เหมือนที่ผ่านมา เกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการชดเชยทั้งหมด ไม่ใช่แค่การชดเชยค่าเสียหายเบื้องต้นเหมือนที่ผ่านมา

          สำหรับสินค้าที่จะเริ่มต้นทำประกันภัยคือ ข้าว ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม เรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานล่าสุดจากการสอบถามความเห็นของเกษตรกร พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรพอใจจ่ายค่าประกันได้ น่าจะอยู่ที่ 150 บาทต่อไร่ ขณะที่รัฐบาลออกเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่งด้วย

          ส่วนงานพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานคงจะใช้โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเป็นตัวนำ มีทั้งโครงการขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2553-2555 จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 1 ล้านไร่ จากงานงบประมาณปกติ ที่สามารถเพิ่มได้ เฉลี่ยปีละ 1-1.7 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่ชลประทานในปัจจุบันมีอยู่ 28 ล้านไร่

          อย่างไรก็ตาม งานเรื่องนี้ ได้กำชับให้ทุกกระทรวงร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ หากงานของกรมชลประทานเข้าไปในพื้นที่แล้วทุกกระทรวงต้องขยับตาม รวมถึงเรื่องงบประมาณของแต่ละกรม ก็ต้องมีการจัดแบ่งการใช้ไว้สองส่วน คือ 1.งบฯสำหรับการดำเนินงานปกติ กับงบฯสำหรับการบูรณาการร่วมกับกรมอื่นๆ

          ๐ จะดูแลการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหารั่วไหล

          ได้ให้กฎเหล็กไปแล้วว่า งานทุกอย่างทุกโครงการต้องเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้และรับฟังเสียงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนเรื่องการคิดราคากลาง ก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงบประมาณดำเนินการตามระเบียบราชการทุกประการหากโครงการใดที่มีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งผมจะจัดการอย่างเด็ดขาด ไม่ปล่อยให้ใครลอยนวล

          ๐ เป้าหมายที่วางในอนาคตสำหรับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ในยุคที่คนชื่อ ธีระ วงศ์สมุทร บริหารงานจะเป็นอย่างไร

          ผมอยากทำให้เกษตรกรหายจน มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตเท่าเทียมกับเกษตรกรต่างประเทศ ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งจนเหมือนในอดีต

          ส่วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นขนาดไหน ผมยังบอกไม่ได้ขอให้ทุกคนอดใจดูกันดีกว่า แต่รับประกันว่าจะไม่ทำให้เกษตรกรผิดหวัง คุณภาพชีวิตเกษตรกรจะดีขึ้น แบบยั่งยืนแน่นอน--จบ--