เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สศก.ชี้ปีทองสินค้าเกษตร ข้าว-ยางราคาพุ่ง

ข่าววันที่ :30 ธ.ค. 2557

Share

tmp_20143012161214_1.jpg

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 18 ม.ค. 53 น.2

 

          นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินภาวะการผลิต การตลาด ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการในปี 2553

          นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในปี 2553 ว่า ราคาสินค้าเกษตรทุกชนิด จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับราคาในปี 2552 ทั้งนี้ เนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตสินค้าบางชนิดลดต่ำลง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตบางแห่งประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อเป็นอาหารจะเพิ่มมากขึ้น

          ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้กลุ่มพืชพลังงาน เป็นที่ต้องการมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ที่มีความหลากหลายในปี 2553 จึงถือว่าจะเป็นโอกาสทองของอีกครั้ง

          ในส่วนของ ข้าว สศก. คาดว่า ข้าวนาปี ปี 2552/2553 จะมีพื้นที่ปลูก 57.256 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 23.245 ล้านตันข้าวเปลือก ที่ลดลง 0.29% เมื่อเทียบกับปี 2551/2552 เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราแทน

          ด้านการผลิตมีปัญหารับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนน้อยในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2552 และปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำให้การผลิตข้าวเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

          ข้าวนาปรัง ปี 2553 คาดว่าจะมีพื้นที่ปลูก 12.090 ล้านไร่ ลดลง 2.52% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลผลิต 8.244 ล้านตัน ลดลง 2.03% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และผลผลิตต่อไร่ 682 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.44 % ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกลดลง เนื่องจากในปีนี้ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางน้อยกว่าปีที่แล้ว

          ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวที่ได้ในปี 2553 จะใช้ในประเทศ เพื่อการบริโภค การใช้ทำพันธุ์ และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอื่นๆ ประมาณ 17.829 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 4.26% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

          แนวโน้มราคาน่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากผลผลิตข้าวโลกลดลง แต่ความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สต็อกข้าวของโลกลดลง อีกทั้งประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ อาทิเช่น อินเดีย ประสบภาวะแห้งแล้ง ผลผลิตได้รับความเสียหาย ไม่สามารถส่งออกได้ และยังต้องนำเข้าข้าวในปี 2553 ประมาณ 1-3.5 ล้านตัน และมีบางประเทศผู้นำเข้าประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น อาทิเช่น ฟิลิปปินส์ อิหร่าน และแอฟริกาใต้ ดังนั้น จึงคาดว่าราคาข้าวปี 2553 น่าจะสูงขึ้นจากปี 2552 แต่ไม่มากนัก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าได้มีการสต็อกข้าวไว้มาก หลังเกิดวิกฤติเมื่อปี 2551 รวมทั้งในปี 2553 ธัญพืชโลกโดยเฉพาะผลผลิตข้าวสาลีเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าราคาข้าวในประเทศจะสูงขึ้น แต่ไม่เท่าปี 2551 ที่ผลผลิตข้าวสาลีของโลกลดลงมาก

          ด้านการส่งออก กระทรวงเกษตรสหรัฐคาดว่า ผลผลิตข้าวโลก ปี 2553 จะลดลงจากปี 2552 เนื่องจากในหลายประเทศประสบภัยธรรมชาติ ในขณะที่การใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การค้าข้าวโลกเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีความพร้อมทั้งปริมาณผลผลิตข้าวและสต็อกคงเหลือ จึงคาดว่าไทยจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ปี 2553 จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 9.5 ล้านตัน

          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าใน ปี 2552/2553 พื้นที่ปลูกมี 6.954 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 3.92% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดเพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดในมันสำปะหลัง เกษตรกรบางรายตัดวงจรระบาดของเพลี้ย และเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดแทน ประกอบกับปีนี้ภาวะอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

          ทั้งนี้ ไทยคาดว่าจะมีการนำเข้าเพื่อส่งออกบ้างประมาณ 3-4 แสนตัน เนื่องจากข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูก ทำให้มีการนำเข้ามาเพื่อส่งออก เพราะความต้องการในตลาดโลกมีมาก

          ด้านราคาปี 2552/2553 คาดว่าราคามีแนวโน้มลดลง แม้ว่าความต้องการใช้ของโลก จะมีมากกว่าการผลิต แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ราคาข้าวโพดโลกไม่ปรับตัวสูงขึ้น

          สำหรับผลผลิตข้าวโพดของโลกคาดว่าผลผลิตโลกมี 792.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐขยายการผลิตในรุ่น 2 ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิต นอกจากนี้ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย เม็กซิโก และไนจีเรีย ยังมีผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ความต้องการใช้ ปี 2552/2553 มี 803.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.67% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐมีนโยบายใช้ข้าวโพดทำเอทานอลเพิ่มขึ้น 14% นอกจากนี้ บราซิล จีน เม็กซิโก อินโดนีเซีย ไนจีเรีย มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

          ยางพารา ในปี 2553 คาดว่าเนื้อที่กรีดยางได้ของไทยจะมีประมาณ 11.994 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 4.22% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลผลิตยางพาราประมาณ 3.326 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.88% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเนื้อที่เปิดกรีดยางได้ทยอยเปิดกรีดมากขึ้น และมีต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงให้ผลผลิตสูงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรดูแลและบำรุง รักษาต้นยางพาราอย่างดี

          ผลผลิตดังกล่าวคาดว่าจะมีการใช้ยางพาราในประเทศประมาณ 4 แสนตัน เพิ่ม 8.11% เนื่องจากนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมในประเทศเริ่มหันมาลงทุนเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการณ์การเงินเมื่อปีที่ผ่านมา

          ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะมีประมาณ 2.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.56% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดว่าจีนจะนำเข้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรูปยางคอมปาวด์ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2552) มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 64.66% ต่อปี

          รายงานจากสถาบันวิจัยยางแจ้งว่าราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ประเภทยางแผ่นดิบแตะที่ระดับ 94.86 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันแตะระดับ 98.88 บาท/กก. โดยมีปัจจัยบวกจากปริมาณความต้องการใช้ยางยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้นักลงทุนและผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับอุปทานยาง ที่มีจำกัดจึงแข่งกันซื้อ ดังนั้น ราคายางอาจมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้อีก

          อย่างไรก็ตาม ราคายางยังมีปัจจัยกดดันหลายด้าน ทั้งราคาตลาดโตเกียวที่ผันผวน ราคาน้ำมันปรับลดลง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นทั้งเงินเยนและเงินบาท ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

          ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com