เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

รายได้ยิ่งดีหนี้ยิ่งบาน

ข่าววันที่ :30 ธ.ค. 2557

Share

tmp_20143012161035_1.jpg

 

ที่มา : โพสต์ ทูเดย์  7 ก.พ. 53 น.A3 

 

          แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรขาขึ้นส่งสัญญาณให้เห็นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงปีนี้สัญญาณก็ยังแรงดีไม่มีตก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติที่ลุกลามไปทั่วโลก

          โชคดีที่ประเทศไทยโดนภัยธรรมชาติน้อยกว่าหลายชาติ ทำให้ยังสามารถปั๊มผลผลิตออกมาส่งไปขายได้ทั่วโลก

          ส่งผลให้รายได้ภาคการเกษตรของบ้านเรามีสัดส่วนถึง 10% ของจีดีพีประเทศ จากจำนวนประชากรในภาคการเกษตรที่มีอยู่ราว 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

          แต่ที่น่าสลดใจก็คือ ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรมีทิศทางบวกเพิ่มขึ้นทุกวัน แทนที่เกษตรกรไทยจะกระเป๋าตุงได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ล้างหนี้เก่า เลิกสร้างหนี้ใหม่ได้

          ปรากฏว่า ผลสำรวจภาระหนี้สินปัจจุบันของเกษตรกร โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับระบุว่าเกษตรกรมีหนี้เฉลี่ยสูงถึง 2.43 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมีหนี้สินอยู่ที่ 2.10 แสนบาทต่อครัวเรือน

          ในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 56.25% และหนี้นอกระบบ 43.75% โดยเกษตรกรมีภาระต้องผ่อนชำระหนี้นอกระบบรายเดือนอยู่ที่ 9,796 บาทต่อเดือน ส่วนหนี้ในระบบชำระอยู่ที่ 6,609 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 7.42% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบไม่สามารถระบุได้ เพราะเจ้าหนี้แต่ละรายโขกสับตามใจชอบ

          เหตุที่เกษตรกรเป็นหนี้ท่วมตัว เพราะต้นทุนเพาะปลูกปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ไล่ตั้งแต่ปี2550 ต้นทุนเพาะปลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาทต่อไร่ ถัดมาปี 2551 ต้นทุนพุ่งเป็น7,000-7,500 บาทต่อไร่ และในปี 2552 ต้นทุนขยับเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7,500-8,000 บาทต่อไร่

          ต้นทุนหลักๆ ก็มาจากค่าปุ๋ยเคมี ค่ายากำจัดศัตรูพืช ซึ่งบ้านเรายังต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากความสามารถในการผลิตของคนไทยยังรองรับความต้องการใช้ของเกษตรกรได้ไม่ทั่วถึงทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองราคา

          สังเกตดูได้จากปี 2550 ที่ต้นทุนของเกษตรกรพุ่งขึ้นเท่าตัว สาเหตุหลักก็มาจากค่าปุ๋ยที่ต่างชาติดาหน้าปรับราคากันคึกคักแถมยังถูกผู้นำเข้าคนไทยโขกราคาเพิ่มเข้าไปอีก ปุ๋ยบางยี่ห้อในขณะนั้น ทำสถิติปรับราคาขึ้นรวดเดียว 400% เลยกลายเป็นว่าเกษตรกรโดนโขกราคาสองเด้งกับชาวต่างชาติผ่านนอมินีคนไทย ซึ่งให้ราคาค่อนข้างสูง พร้อมผลประโยชน์ล่อใจขายแล้วยังใจป้ำให้ชาวนาเช่าที่ทำกินต่อไปไม่มีกำหนด

          ครั้นพอเศรษฐกิจขาขึ้น ราคาสินค้าเกษตรรุ่งเป็นพลุแตก นายทุนเหล่านี้ก็ออกอาการตุกติก ขึ้นค่าเช่าบ้าง บางรายก็กดดันให้ออกจากที่ เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แทน เพราะสัญญาที่ให้ไว้แค่ลมปาก

          การฟ้องร้องจากเกษตรกรก็ไม่เป็นผลเพราะทุกวันนี้ผลพิสูจน์นอมินีที่ดินจากหน่วยงานรัฐยังไม่มีข้อยุติ และทำท่าจะเงียบหายไปกับสายลม แสงแดด เหมือนหลายๆ กรณีที่ไปชนนายทุนเงินหนา เข้าอย่างจัง

          ส้มหล่นจากผลพวงราคาสินค้าเกษตรแพง ผลกำไรจึงไหลบ่าไปลงที่แวดวงพ่อค้ามากกว่า

          ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าวัสดุ อุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ย ยา พ่อค้าคนกลาง โรงสี ค้าปลีกค้าส่ง และผู้ส่งออก นอกจากทำมาค้าขายในประเทศจะคล่องแล้ว ส่งออกยังพุ่งกระฉูด แซงหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมแบบม้วนเดียวจบ

          ปีที่แล้ว กลุ่มสินค้าเกษตรตัวหลัก นำโดยข้าว ส่งออกได้ถึง 5,046 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.7% ยางพารา ส่งออกได้ 4,308 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.6%ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่งออกได้ 1,520 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4% ตบท้ายด้วยน้ำตาล ส่งออกได้ 1,803 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4%

          ที่ระกำช้ำทรวงก็เห็นจะมีแต่เกษตรกรยิ่งปลูกยิ่งกำไรหด และที่รันทดไม่แพ้กันก็เหล่าบรรดาผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายนี่แหละ

          อยู่ในประเทศแหล่งผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกแท้ๆ แทนที่จะได้บริโภคของถูก กลับต้องจ่ายแพงไม่น้อยหน้าผู้ซื้อต่างแดน แถมบางสินค้าอย่างน้ำตาลคนไทยก็จ่ายแพงกว่าต่างชาติ--จบ--