เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

การปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร

ข่าววันที่ :30 ธ.ค. 2557

Share

tmp_20143012160956_1.jpg

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  10 ก.พ. 53 น.11

 

           Norman Uphoff ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความยั่งยืนของสังคมเกษตรกร มหาวิทยาลัยคอร์แนล สิ่งที่นอร์มัน อัพฮอฟ ประกาศถือเป็นหลักสำคัญ เราพูดกันถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องจับหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ว่าความยั่งยืนของสังคมทั้งหมดอยู่ที่ความยั่งยืนของสังคมเกษตรกร เพราะว่าเรื่องเกษตรกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และมีความเป็นไปได้มาก ที่จะทำให้สามารถสัมมาชีพเกิดเต็มพื้นที่ เป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุข สัมมาอาชีพหมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของสังคม : คนจำนวนมาก...สัมมาชีพเต็มพื้นที่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงสิ่งแวดล้อม

          การทำอาชีพเกษตรกรสามารถนำไปสู่สัมมาชีพเต็มพื้นที่ได้ ไม่ใช่อุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมนั้นล่มสลายได้ง่าย เพราะอุตสาหกรรมไม่ได้มุ่งเน้นที่ชีวิต และการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง แต่มุ่งเน้นที่การทำเงิน

          ความมั่นคงด้านอาหาร ถือเป็นจุดแข็งของเรา ประเทศไทยสามารถผลิตอาหารเหลือกินไม่ว่าโลกจะวิกฤติอย่างไรก็แล้วแต่ประเทศไทยก็อยู่ได้ ในทางกลับกัน มีเงินแต่ไม่มีอาหารให้ซื้อจะเอาอะไรกิน สมมติเรายกเลิกระบบเงินตราทั้งหมด คนที่รวยที่สุด คือ เกษตรกร ม.จ. สิทธิพร กฤษดากร กล่าวไว้ "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" เงินทองเป็นสิ่งสมมติขึ้นแต่สมมติอย่างไม่ยุติธรรม ทำให้คนรวยกลับจน คนจนกลับรวย แต่ก็เพราะว่าเป็นสิ่งสมมติ ก็สามารถแก้ไขได้ให้เกิดความเป็นธรรมได้

          ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม เรามีเกษตรที่เรียกว่า วนเกษตรบ้าง เกษตรผสมผสานบ้าง เกษตรยั่งยืนบ้าง พร้อมๆ กับการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เป็นเรื่องของดุลยภาพเกิดขึ้นได้ มีคนลองทำกันแล้ว ทั้งเกษตรยั่งยืน วนเกษตร ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมนั้น ย้อนหลังไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว ก็ขาดทุน แต่ขณะนี้ เปลี่ยนมาทำวนเกษตร การสามารถสร้างสัมมาชีพได้เต็มพื้นที่ มีความมั่นคงด้านอาหาร มีความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดรวมกันแล้วคือความยั่งยืน เป็นความยั่งยืนของสังคมเกษตรกร

          คนที่พูดต่างไปจากนี้มาก และบอกว่าเกษตรกรรมมีความสำคัญน้อยลงๆ เพราะไปยึดถือรายได้จากการส่งออกว่ามาจากเกษตรกรน้อยลง อย่างนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จะไปมองแต่ตัวเงินไม่ได้ ต้องมองทั้งหมด ต้องมองที่คนจำนวนมาก มองที่ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เกษตรยั่งยืน

          การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาอย่างแยกส่วน เอากรมเป็นตัวตั้ง การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ว่าอะไรก็ตามที่ไม่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้งจะพลาดเสมอ เราพลาดมาตลอด 17-18 ปี คุณภาพชีวิตเกษตรกรจะอยู่รอดต้องพัฒนาแบบบูรณาการ ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้น ตัวชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจึงต้องเป็นหลัก ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างจากยอด พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน และฐานของสังคม ก็คือ ชุมชนท้องถิ่น แต่เราเอาจากยอดลงข้างล่าง ก็ไม่สำเร็จ ช่องว่างก็ห่างมากขึ้น เกิดปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม

          เรื่องการเมืองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีประชาธิปไตยใดสำเร็จโดยการปราศจากประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local democracy) ชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งหากประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันขับเคลื่อนแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรท้องถิ่นต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

          เราเรียนรู้และทดลองกันมา 20-30 ปี เรารู้แล้วว่าวิถีชีวิตแบบใดจึงจะสมดุล นี่คือ การวิจัยที่ใหญ่ที่สุดโดยชาวบ้าน เราได้ผ่านการวิจัย ผ่านการทดลอง ถึงเวลาแล้วที่จะขยายไปทั่วประเทศทั้งเจ็ดหมื่นหกพันหมู่บ้าน

          ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยควรต้องหนุนชุมชนด้วย รัฐบาลควรต้องมีนโยบาย หนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด สร้างจังหวัดน่าอยู่ ขณะที่แต่ละจังหวัดควรจะประกาศตัวว่าทุกจังหวัดทำได้ เพราะตอนนี้เรามีโครงสร้าง มีบุคคล มีแนวคิด มีทฤษฎี มีองค์กรที่จะหนุนด้วย หากเราร่วมกันทำภายในสิบปี ก็น่าจะได้เห็นหน้าเห็นหลัง

          เกษตรยั่งยืนต้องเน้นการผลิตเพื่อบริโภคเองเหลือก็ให้กับขาย เวลาที่เราทำอย่างนี้ ก็เห็นผลเลยว่า หนึ่ง หนี้สินพ้นไป สอง มีเงินออมเพิ่มขึ้น สาม กินอิ่มเหลือเฟือ สี่ สุขภาพดีขึ้นทุกๆ ทาง ห้า สังคมดีขึ้นเพราะกินอิ่ม หลุดหนี้ ใจเย็น วิถีชีวิตลดความรุนแรงลดลง และประการที่หก ต้นไม้เพิ่มขึ้นเพราะทำเกษตรผสมผสาน ถ้าเราทำเช่นนี้ ก็จะเกิดความมั่นคงทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ประชาธิปไตย

          ยุทธศาสตร์ คือ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ส่วนเกษตรขนาดใหญ่จะส่งออกหรืออะไรก็ต้องทำโดยนักเศรษฐศาสตร์อาจคำนวณดูว่าต้องทำขนาดไหน จึงจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นพิษกับประชาชน

          ปัจจัย คือ เมล็ดพันธุ์และที่ดิน เรามีที่ดิน 321 ล้านไร่ ต้องทำวิจัยว่าทำอย่างไรให้ที่หนึ่งไร่พอสำหรับครอบครัว ซึ่งรัฐบาลและสังคมต้องทำร่วมกัน ต้องจัดที่ดินให้คนไทยไปทำกินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นอกจากนี้ เราต้องรวบรวมภูมิปัญญาในการจัดการเมล็ดพันธุ์ ต้องมีการทำงานวิชาการพื้นฐานที่ดีและรวบรวมสิ่งดีๆ มาใช้ อาทิเช่น ที่ประเทศมาดาร์กัสการ์ ค้นพบการปลูกข้าว ที่ดินหนึ่งเอเคอร์ผลิตข้าวได้ 19 ตัน ภูมิปัญญานี้ ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย ใช้น้ำก็น้อย ไม่ใช้ปุ๋ย เรื่องแบบนี้เราต้องรวบรวมและศึกษา

          เกษตรกรต้องสามารถรวมตัวมีองค์กรของตัวเอง มีธนาคารของตัวเอง มีความเข้มแข็งรวมตัวสามารถต่อรองนโยบายได้ และต้องมีคณะทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อสังเคราะห์นโยบายมาปฏิบัติ ให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสาร พวกนักวิชาการนั้นบางทีคิดเอาเองก็ไม่รู้ และส่วนใหญ่ไม่ทำงานเชิงนโยบายเลย ขณะที่ผู้ปฏิบัติจะรู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติแล้วอะไรมาส่งเสริมแล้วจะดีขึ้น ควรจะมีคนมาทำงานกับเกษตรกรแล้วสังเคราะห์ประเด็นนโยบายมาสู่การปฏิบัติและสังเคราะห์ไปสู่ระดับชาติ เพื่อประโยชน์ของคนข้างล่าง นี่ก็คือ ประชาธิปไตยแล้ว

          องค์กรสนับสนุนไตรภาคี : รัฐ วิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน

          ภาคีทั้งหมด คือ รัฐ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ต้องช่วยกัน ซึ่งพูดง่ายแต่ปฏิบัติยาก โดยเฉพาะเวลาที่ธุรกิจขนาดใหญ่มุ่งกำไรอยากจะขายปุ๋ย ขายยาฆ่าแมลง เขาก็จะต่อต้าน จะเกิดแรงเสียดทาน องค์กรสนับสนุนและชุมชนจึงต้องรวมตัวกัน และถ้าเป็นไปได้ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงเกษตรกร" หรือ "กระทรวงเพื่อเกษตรกร" ดีหรือไม่ เพราะเดิมนั้น กระทรวงมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้า (Product) มุ่งเน้นการขาย ไม่ได้มุ่งเน้นให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น การเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรฯ เป็นการเน้นประเด็นว่าเราต้องปรับแนวคิด ส่วนเรื่องสหกรณ์เรามีมานาน แต่ว่าไม่ไปถึงไหน เพราะไปเน้นเรื่องกฎหมาย การรวมตัวของสหกรณ์จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการต่อรองทุกด้าน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น สหกรณ์เขาเข้มแข็งมาก สามารถต่อรองได้ สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นมีราคาแพงแต่คนญี่ปุ่นซื้อ นี่คือ นโยบาย เพราะเขามีอำนาจต่อรองเยอะ รัฐต้องพิจารณาด้วยว่าจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการส่งเสริมการทำงานของเอ็นจีโอหรือไม่ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรภาคี ภาครัฐเองก็อาจไม่คุ้นเคยกับการหนุนเอ็นจีโอ ไม่ค่อยมีกองทุน อาทิเช่น กองทุนเกษตรยั่งยืน ซึ่งหากต้องการการสนับสนุนก็อาจทำได้ไม่ยากโดยออกกฎหมายเก็บเปอร์เซ็นต์จากสินค้าที่เอาไปขายต่างประเทศ

          ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจชุมชน ผู้บริโภคในเมือง และเศรษฐกิจมหภาคให้เกื้อกูลกัน การบริโภคอาหารสะอาดในเมืองก็จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ถ้าผู้บริโภคบริโภคอาหารที่ใช้ยาฆ่าแมลงก็ไปส่งเสริมแผ่นดินอาบยาพิษ แล้วการเชื่อมโยงกันก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วยเทคนิคการตรวจยาฆ่าแมลงซึ่งมีการโกงกันมาก แต่เป็นการเชื่อมโยงกันด้วยใจ เป็นเรื่องของการไว้วางใจ (Trust)

          สุดท้ายผู้ใช้แรงงานเวลานี้เดือดร้อนไม่พอกินไม่พอใช้ ขณะนี้ ไม่มีคำตอบเรื่องผู้ใช้แรงงาน คำตอบ คือ ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจชุมชนเข้าด้วยกัน ทำให้การแข่งขันดีขึ้น ผู้ใช้แรงงานดีขึ้น

          ประเวศ วะสี--จบ-- 

          ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com