เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แบงก์เหมาะลงทุนระยะยาว หนี้เสียกดดันกำไรต่อ

ข่าววันที่ :6 ต.ค. 2558

Share

tmp_20150610112024_1.png

          บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASP) ออกบทวิเคราะห์ว่า ขณะนี้นักวิเคราะห์อยู่ระหว่างการคาดการณ์กำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะประกาศผลกำไรงวดไตรมาส 3 ปี 2558 ซึ่งคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย แต่การกันสำรองที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้กำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายลดลง และคาดว่าหลังทำประมาณการกำไรไตรมาส 3 กำไรสุทธิของทั้งกลุ่มจะหดตัวลงจากประมาณการครั้งก่อน

          อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ของกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์นิ่งขึ้น ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 3 ค่อนข้างทรงตัวหลังจากย่ำแย่มาในหลายไตรมาสก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ส่วนสินเชื่อที่เป็นห่วงคือ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อส่วนบุคคลที่อาจเพิ่มอย่างเร่งตัว

          ทั้งนี้ แม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลงมารับข่าวลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสัดส่วนราคาต่อมูลค่าบัญชี (พี/บีวี) ของกลุ่มลงมาติดลบ 2 นับว่าถูกมาก แต่ยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นที่มีนัยสำคัญเข้ามา ทำให้ราคาหุ้นอาจทรงตัวในระดับต่ำต่อไป แต่หากต้องการเลือกซื้อเพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่เน้นสินเชื่อรายใหญ่และหนี้ยังเป็นปกติ

          สำหรับบริษัท ทุนธนชาต (TCAP) เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ NPL ค่อนข้างนิ่งแล้ว และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เน้นสินเชื่อเอสเอ็มอี ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจมี NPL เพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารประเมินความเสี่ยงด้าน NPL ว่าจะเข้ามาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมองระดับสัดส่วน NPL สูงสุดไม่เกิน 2.7-2.8%

          อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้จัดให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ล่าสุด 10 บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ได้ออก บทวิเคราะห์ ซึ่งโบรกเกอร์ 6 แห่ง แนะนำ "ซื้อ" แต่ลดราคาเป้าหมายลงและหั่นประมาณการกำไรลงด้วย

          บล.บัวหลวง แนะนำซื้อหุ้น BBL ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 196 บาท หลังได้รับข้อมูลจากผู้บริหาร ระบุว่า ภาพเศรษฐกิจในปี 2558 แย่กว่าที่คาดไว้ โดย BBL ได้เพิ่มการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ มาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งปรับประมาณการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจาก 2.1-2.2% ลงเหลือ 2.0-2.1% ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2558 ลง 4.5% เหลือ 3.4 หมื่นล้านบาท ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ที่ 196 บาท อิงสัดส่วนราคาต่อมูลค่าบัญชี ณ สิ้นปี 2558 ที่ 1.08 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 1.2 เท่า

          อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไร ในปี 2559 จะกระโดดสูงขึ้น 17% มาอยู่ที่ 3.98 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากโครงการภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ ที่ลดลง เรายังคงแนะนำ "ซื้อ" การเติบโตสินเชื่อยังคงเป้าที่ 2-3%

          "คาดว่า BBL จะรายงานกำไรไตรมาส 3 ที่ 8,000 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1.95% และสินเชื่อจะเติบโตขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ การสำรองค่า เผื่อหนี้สูญฯ ในไตรมาส 3 มีแนวโน้มอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนหน้า ใน ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียม คาดเติบโตขึ้น 7% จากไตรมาส ก่อนหน้า จากค่าธรรมเนียมปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ธุรกิจประกัน กองทุนรวม และธุรกิจเครดิตการ์ด ส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ไม่รวมสำรองหนี้เสียจะอยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้าแต่ลดลง 5% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน"

          บล.เอเซีย พลัส แนะนำซื้อให้ราคาเหมาะสมที่ 185 บาท จากเดิม 194 บาท ประคองตัวได้ดีแม้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ NPL และต้นทุนของเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มฯ ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ด้วยความแกร่งของคุณภาพสินทรัพย์เป็นทุนเดิมบวกกับราคาหุ้นที่ถูกมากเป็นทุนเดิมปันผลร่วม 4% ฝ่ายวิจัยคาด BBL จะมีกำไรสุทธิงวด 3 เท่ากับ 8,720 ล้านบาท เติบโต 8.6% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังลดลง 8.9% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนด้วยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อและส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สวนทางกลุ่มฯ

          ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนใหญ่จากกลุ่มสินเชื่อ SME ในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้เกิดจากอุตสาห กรรมใดโดยเฉพาะ แต่สัดส่วนเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมยังสอดคล้องกับเป้าหมายของ BBL ที่ 2.7-2.8% ทำให้ส่งผลต่อคาดการณ์ Credit Cost ให้เพิ่มขึ้นตามที่ BBL ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ทั้งปี 2558 เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 กลับไปอ่อนตัว ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานปี 2558-2559 ลงเล็กน้อยราว 2.1% และ 1.9% จากเดิม ส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มสมมติฐานค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 หดตัวลง 6.1% แต่จะพลิกกลับมาเติบโต 9.2% ในปี 2559 ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2558 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเริ่มทยอยส่งผล

          บล.ทิสโก้ แนะนำ "ถือ" คงมูลค่าที่เหมาะสม 164 บาท (GGM) หลังได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรอง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง และธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อให้เท่ากับคู่แข่งและด้วยการเติบโตของสินเชื่อที่อ่อนแอ และการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นทำให้ คาดว่าผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) มีโอกาสขยายตัวเกิน 11% ได้ยาก

          ด้านราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์วันที่ 5 ต.ค. ปรับตัวขึ้นตามตลาดโดยรวม KBANK ปิด 171 บาทเพิ่มขึ้น 2 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปิด 140 บาท เพิ่มขึ้น 6 บาท และ BBL ปิด 161.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท และธนาคารกรุงไทย (KTB) ปิด 17.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 ตุลาคม 2558