เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สภาเกษตรฯดึงธ.ก.ส.-ปตท.ร่วมสร้างต้นแบบพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นำร่องดัน'มันสำปะหลัง'สู่พลังงานทดแทนเต็มสูบ

ข่าววันที่ :6 ต.ค. 2558

Share

tmp_20150610103101_1.jpg

          นายวิชิต นันทวรวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดทำนโยบาย สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า มันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานที่ตลาดกำลังขยายตัวและมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ปัจจุบันไทยยังมีการผลิตและส่งออกมันสำปะหลังในรูปมันเส้น มันสำปะหลังอัดเม็ด และแป้งมันเป็นหลัก ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนในรูปวัตถุดิบต่ำ และยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในฐานะพืชพลังงานได้เต็มศักยภาพ จากประเด็นดังกล่าว สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เร่งสร้างต้นแบบการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม นำร่องในมันสำปะหลัง (Cas sava city) โดยน้อมนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ มีเป้าหมายนำร่องส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอวังสามหมอ และอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 3,000 คน ให้ผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

          เบื้องต้นได้ส่งเสริมให้ชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ดังกล่าว รวมตัวจัดตั้งสมาคมเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังวังสามหมอ-ศรีธาตุขึ้น โดยรับสมาชิกระบบกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวม 3,000 คน จากนั้นจะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรสมาชิก มุ่งเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 3.6 ตัน/ไร่ เป็นไม่น้อยกว่า 7 ตัน/ไร่ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานเอทานอลชุมชน กำลังการผลิต 5,000 ลิตร/วัน พร้อมพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน และโรงงานปุ๋ยอินทรีย์จากกากมันสำปะหลัง โรงงานมันเส้นสะอาด กำลังการผลิต 200 ตัน/วัน รวมทั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลวังสามหมอ ขนาดกำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ (MW) และโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โรง/4 ตำบล กำลังการผลิตรวมประมาณ 12 เมกะวัตต์ เป็นต้น

          นายวิชิตกล่าวด้วยว่า อำเภอวังสามหมอมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 22,050 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 69,236 ตัน เฉลี่ย 3,324 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนอำเภอศรีธาตุมีเนื้อที่เพาะปลูก 31,623 ไร่ ได้ผลผลิต 102,516 ตัน เฉลี่ย 3,309 กิโลกรัม/ไร่ จากความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการพัฒนาต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น โดยยกระดับเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบขึ้นเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมเปลี่ยนผลตอบแทนที่ได้จากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว เชื่อมโยงสู่การแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และผนึกการตลาดเข้าเป็นกระบวนการเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพระบบตลาดและราคาผลผลิต ทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรมีโอกาสเท่าเทียมผู้ประกอบการ และช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจด้วย

          ความร่วมมือในการพัฒนาต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอวังสามหมอ และอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี คาดว่าพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ไร่ ได้ผลผลิตปีละกว่า 700,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 350,000 ตัน ช่วยยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท/ปี ทั้งยังคาดว่าจะมีการผลิตมันเส้นสะอาดได้ปีละ 60,000 ตัน มูลค่ากว่า 450 ล้านบาท สามารถผลิตเอทานอลได้ปีละประมาณ 1.5 ล้านลิตร มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และได้ผลผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีผลผลิตไฟฟ้าพลังชีวมวล 2 MW มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท/ปี ผลผลิตจากโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) 12 MW มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท/ปี และยังมีมูลค่าจากปั๊มน้ำมันด้วย โดยรวมคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากฐานผลผลิตมันสำปะหลังในโครงการ Cassava city ได้ปีละกว่า 1,325 ล้านบาท

          "อนาคตสภาเกษตรกรฯ ได้มีแผนเร่งขยายผลการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมในพืชเศรษฐกิจอื่น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น โดยใช้ระบบเกษตรอุตสาหกรรมอำเภอวังสามหมอศรีธาตุ เป็นต้นแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตพืชเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เป็นเจ้าของกิจการด้วย" นายวิชิตกล่าว.

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 ตุลาคม 2558