เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ห่วงเศรษฐกิจโตต่ำธปท.อาจหั่นดอกเบี้ย

ข่าววันที่ :2 ต.ค. 2558

Share

tmp_20150210094959_1.jpg

          สัญญาณการถอนเงินทุนออกจากเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การไหลออกของเงินทุน เร่งตัวขึ้นในเดือน ส.ค. เกิดจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก และตลาดหุ้นจีนที่ลดลงค่อนข้างมาก

          ทั้งนี้ ธปท.คาดว่า ในปี 2558 มีเงินทุนไหลออกประมาณ 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการไหลออกจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดพันธบัตรประมาณ 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

          สัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่ชัดเจน แค่คาดเดากันว่าอาจจะได้เห็นเฟดลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีนี้ หรืออย่างช้าก็ต้นปีหน้า

          แต่ที่แน่ๆ คือ องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ได้ปรับลดการเติบโตการค้าโลกปี 2558 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.3% ทำให้การค้าโลกเติบโตต่ำกว่า 3% ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยมีปัจจัยมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงทั่วโลกและแรงซื้อที่ชะลอตัวจากกลุ่มประเทศใหญ่อย่างจีน

          นอกจากนี้ หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจชั้นนำของโลกอีกหลายแห่งก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การค้าโลกปีนี้ถึงขั้นโคม่าและจะฉุดจีดีพีโลกให้ลดลงตามไปด้วย

          หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำติดดินของสหรัฐที่ระดับ 0-0.25% ณ เวลานี้ อาจได้รับการปรับขึ้น ซึ่งจะเป็นดอกเบี้ยโลกขาขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ที่

          เกิดวิกฤตการณ์ในภาคการเงินโลกขึ้น เมื่อปี 2551 เป็นต้นมา

          "เมื่อสหรัฐส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยจะเริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลออกเรื่อยๆ ตั้งแต่กลางปีนี้ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า เงินเฟ้อสูงขึ้น ตลาดเงินจะผันผวน ซึ่งในภาวะปกติจะต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัด แต่ที่น่าสนใจ คือ เศรษฐกิจบ้านเราจะฟื้นตัวได้ทันสถานการณ์หรือไม่ เพราะอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เศรษฐกิจไม่มีปัญหา ก็พร้อมขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐทันทีหากมีเงินไหลออก แต่สำหรับประเทศไทยยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก" อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าว

          สถานการณ์การค้าโลกที่หดตัว ทำให้การใช้ดอกเบี้ยนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ผลน้อยกว่าในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แถมนักวิเคราะห์ยังคิดว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปได้อีก เพราะไทยไม่ได้ลดดอกเบี้ยเพื่อกดดันให้ค่าเงินอ่อนเหมือนประเทศอื่นๆ

          ปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า นโยบายดอกเบี้ยที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างทิศทางของไทยและของโลก จะส่งผลให้นักลงทุนยิ่งโยกย้ายเงินลงทุนกลับประเทศมากขึ้น เพราะแม้ว่าต่างชาติจะเริ่มขนเงินออกจากไทยและตลาดเกิดใหม่ไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หรือช่วงที่เฟดเริ่มส่งสัญญาณลดคิวอีเป็นครั้งแรก แต่เงินที่ถูกโยกออกนั้นยังเป็นสัดส่วนของตลาดหุ้นเป็นหลัก โดยปัจจุบันยังคงเหลือเงินทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรอีกหลายแสนล้านบาท

          "เราเป็นตลาดขนาดเล็ก คงไม่สามารถต้านทานนโยบายดอกเบี้ยของประเทศขนาดใหญ่ได้ ซึ่งหากสวนทางกันก็มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คล้ายกับในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้การลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งที่ผ่านมาก็ไม่สามารถส่งผ่านนโยบายได้มากอย่างที่ ธปท.คาดหวัง ทั้งในแง่การลดดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์ และการขอหรือปล่อยสินเชื่อซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยคาดว่าปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยอาจปรับขึ้น 0.25% มากกว่าที่จะขยับลงอีก" ปารีณา กล่าว

          เมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะหดตัวได้

          เมธี กล่าวว่า การตัดสินนโยบาย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำโดยเฉพาะจากภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

          "การลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง กำลังส่งผลอยู่ และการลดในรอบที่แล้ว ก็ทราบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าที่เราประกาศไว้ในช่วงเดือน มี.ค. จึงได้ดำเนินการล่วงหน้า เลยอยากรอดูผลอีกระยะหนึ่ง ซึ่ง กนง.ได้ย้ำว่าจะติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้ Policy Space ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม โดยขึ้นกับพัฒนาการเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร" เมธี กล่าว

          ส่วนคำถามที่ว่า กนง.มีความเห็นอย่างไรต่อประสิทธิภาพในการส่งผ่านนโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง เมธี กล่าวว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างการลดดอกเบี้ยในครั้งแรก คือ วันที่ 11 มี.ค. 2558 และครั้งที่สอง คือวันที่ 29 เม.ย. 2558

          นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นว่า การส่งผ่านไปยังอัตราแลกเปลี่ยนของการลดดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ส่วนผลจากการคงดอกเบี้ยในรอบนี้จะส่งผ่านไปยังอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไรบ้าง คงต้องขึ้นกับการตีความของตลาด

          แต่ถ้าดูดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบัน ถือเป็นระดับต่ำเกือบสุดในภูมิภาครองจากสิงคโปร์แค่ประเทศเดียว เพียงแต่สิงคโปร์ใช้นโยบายการเงินคนละแบบกับไทย

          "การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงที่ผ่านมา ก็ยังพอมีอยู่แต่ไม่ได้มากนัก เป็นการไหลออกตามปกติในส่วนของตลาดพันธบัตร และที่ผ่านมายอดการถือครองของนักลงทุนต่างชาติในตลาดนี้ก็ลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก เดิมเคยมียอดคงค้างสูงกว่า 10% แต่ปัจจุบันก็ลงมาต่ำกว่า 10% เล็กน้อย" เมธี กล่าว

          ทิศทางนโยบายจะเป็นอย่างไร จะขึ้นอยู่กับ วิรไทย สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร

          หากทุกสำนักพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะแย่มากจากการค้าที่หดตัว เป็นได้สูงว่า ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ของวิรไท จะให้น้ำหนักของการดำเนินนโยบายการเงินไปที่การพยุงเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท.ก็เป็นได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 ตุลาคม 2558