เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แก๊สชีวภาพจากมูลควาย

ข่าววันที่ :23 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152309105059_1.jpg

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายสมจิตต์ และ นางมณี อิ่มเอย ที่น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว จำนวน 110-3-81 ไร่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกกระบือให้สามารถทำการเกษตร และเป็นแหล่งที่ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้วัฒนธรรมการเกษตรท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง เมื่อวันก่อน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้นำตัวแทนคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เข้ามาศึกษาเรียนรู้แนวพระราช ดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ ในการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมทุกสาขา ที่ทรงผสมผสานระหว่างหลักวิชาการ ประสบการณ์ เกิดเป็นหลักการทรงงาน ปรัชญา ทฤษฎีและหลักการพัฒนาด้าน ต่าง ๆ ตามลักษณะภูมิสังคมนั้น ๆ ตลอดถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคำสอนต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการถ่ายทอดสู่เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ประชาชน และชุมชนต่อไป หนึ่งในกิจกรรมนั้นได้นำมาดูงาน ที่ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ แห่งนี้ และในหลาย ๆ กิจกรรมของสถานที่แห่งนี้ที่คณะได้ดูงาน ที่หลายท่านให้ความสนใจก็คือ การนำมูลสุกรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อการประหยัดพลังงานและการใช้ประโยชน์จากสัตว์เลี้ยงอย่างครบวงจร นับเป็นการนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นภายใต้การเลี้ยงปศุสัตว์แบบพอเพียง คือโค กระบือ ที่เลี้ยงนั้นสามารถใช้เป็นกระปุกออมสินและหลักประกันความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ ตลอดถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อย่างมูลสัตว์ก็สามารถนำมาผลิตเป็นแก๊สที่ใช้ภายในครัวเรือน ช่วยลดรายจ่ายทดแทนแก๊ส LPG ส่วนกากที่ผ่านการย่อยสลายในบ่อแก๊สแล้ว นำมาใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อปลูกพืช ผัก ไม้ผล และแปลงหญ้าได้เป็นอย่างดี ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัย ไม่มีสารเคมีอันตรายตกค้าง ลดการพึ่งพาภายนอก เกิดการเกื้อกูลกันภายในระบบการผลิต ลดมลพิษด้านกลิ่น และแมลงวัน ตลอดจนช่วยลดสภาวะโลกร้อนทางอ้อมอีกด้วย สำหรับขบวนการผลิตนั้นเจ้าหน้าที่แนะนำว่า เริ่มจากการเตรียมหลุม สำหรับรองรับถังหมักแก๊ส ขุดให้ส่วนของก้นหลุมมีลักษณะเป็นรูปตัวยู U ติดตั้งถังหมัก ปิดปากท่อส่งแก๊สด้วยท่อพีวีซี 4 นิ้ว โดยให้ท่อส่งแก๊สอยู่ส่วนบนสุด ส่วนท่อล้นนั้นทำให้ท่อเอียง วางปลายท่อด้านบนให้อยู่ในระดับผิวดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย สำหรับท่อเติมท่อให้เอียงทำมุมมากขึ้นหรือเกือบตั้งตรง วางปลายท่อส่วนบนให้สูงกว่าปลายท่อล้น 15 ซม. แล้วตอกหลักยึดให้แน่น นำวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 ซม. มาวางครอบปลายท่อเติมด้านบนเทและฉาบพื้นวงบ่อด้วยคอนกรีตให้ได้รูปแบบที่สะดวกและง่ายในการเติมมูลโบกปูนทับส่วนข้อต่อให้แน่นหนาทั้งสองด้าน จากนั้น เติมนํ้าด้วยสายยางทางท่อส่งแก๊สหรือท่อล้นก็ได้ ให้นํ้าท่วมปลายท่อที่อยู่ในถังหมักทั้งสองด้านเล็กน้อย จากนั้นเปิดและปิดปากท่อเพื่อระบายลมออกเป็นระยะ ๆ ส่วนการเดินสายส่งแก๊สไม่ควรไกลเกินไป และไม่ให้หย่อนหรือตกท้องช้าง ติดตั้งชุดดักนํ้าในจุดที่ท่อแก๊สตกท้องช้างป้องกันนํ้าอุดตันท่อแก๊ส เติมนํ้าในชุดดักนํ้าให้ท่วมปลายท่อภายใน เทมูลสัตว์สดลงในบ่อเติม ในช่วง 3 สัปดาห์แรก ให้เติมทุกวัน ๆ เติมนํ้าผสมกับมูลในสัดส่วน ประมาณ 1 : 1 ละเลงมูลให้เหลวและเก็บเศษวัสดุที่ย่อยยากออก แล้วไล่มูลลงถังแก๊สให้หมด ปรับความถี่ และปริมาณการเติมตามการใช้งานจริงเมื่อระบบเริ่มใช้งานได้แล้ว จะเริ่มใช้งานได้ภายใน 3 สัปดาห์หลังเติมมูลสัตว์อย่างต่อเนื่อง และใช้ได้อย่างถาวรต่อไป
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 กันยายน 2558