เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เลี้ยงกบในแปลงกล้วยตามธรรมชาติ

ข่าววันที่ :17 ก.ย. 2558

Share

tmp_20151709113307_1.jpg

          ที่อ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแสงบูรพา หมู่ที่ 11 ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ ที่นี่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ ได้ปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าอ่างเก็บน้ำฯ ประมาณ 10 ไร่ ให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าตามแนวพระราชดำริ” ขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ขยายผลตามโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จากพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งล่าสุด นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงาน พบว่ามีความน่าสนใจอยู่หลายรายการ และหนึ่งในนั้นก็เห็นจะเป็น การปลูกกล้วยในระบบยกร่องพร้อมเลี้ยงกบแบบธรรมชาติภายในแปลงปลูกกล้วย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งนวัฒกรรมที่สามารถนำมาขยายผลให้กับราษฎรในพื้นที่อื่น ๆ นำไปดำเนินการได้เป็นอย่างดี ด้วยทั้งอาหารประเภท พืช พร้อมกับอาหารโปรตีนได้มาจากการใช้พื้นที่และน้ำในเวลาเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ได้ยกร่องขึ้นมาเพื่อให้น้ำไหลเวียนไปตามท้องร่องซึ่งเป็นน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ปล่อยสู่แปลงเกษตรของราษฎรในพื้นที่ตอนล่าง บนร่องปลูกกล้วยน้ำว้า ขณะที่บริเวณท้องร่องก็ปล่อยกบให้ใช้ชีวิตเจริญเติบโตตามธรรมชาติ หากินตามธรรมชาติจากแมลงในร่องสวนกล้วย ซึ่งเป็นการช่วยกำจัดแมลงให้กับต้นพืชที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีสำหรับการนี้ และเมื่อถึงเวลา เกษตรกรก็สามารถเก็บเครือกล้วย และจับกบมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับ กล้วยนั้นเรียกได้ว่าเป็นพืชประจำบ้าน หรือเป็นพืชคู่กับครอบครัวคนไทยมายาวนาน ซึ่งการปลูกกล้วยแบบยกร่องนั้นนิยมปลูกอยู่ 2 ชนิด คือกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม โดยการปลูกให้หันรอยปาดของหน่อกล้วยไปตามทิศทางของร่อง ไม่หันไปทิศทางด้านร่องน้ำที่มีน้ำอยู่ทั้งสองด้าน เพื่อบังคับทิศทางของการออกเครือของกล้วยให้ออกมาทางแนวร่องดิน เพื่อสะดวกในการตัดเก็บมาใช้ประโยชน์เมื่อกล้วยแก่เต็มที่ ส่วนกบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตามธรรมชาติจะหากินอยู่ตามลำห้วย หนอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลงและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่เนื่องจากปัจจุบันปริมาณความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นกบในธรรมชาติจึงลดน้อยลง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันมาเลี้ยงแบบบ่อดิน หรือกระชังมากขึ้น ทำให้กบในธรรมชาติน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่า คุณภาพของกบที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ กับเลี้ยงแบบขุนในบ่อเลี้ยงนั้นย่อมที่จะต่างกัน อันรวมไปถึงต้นทุนในการเลี้ยงด้วย เมื่อเลี้ยงแบบผสมผสานในแปลงปลูกกล้วยจึงไม่เป็นปัญหา ขณะที่มีกระแสน้ำไหลเวียนในพื้นที่ตลอดเวลา ประกอบกับกอกล้วยและพงหญ้าริมร่องน้ำ จะเป็นแหล่งอยู่อาศัยและหากินตามธรรมชาติของกบได้เป็นอย่างดี จึงทำให้กบสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และเร็วตามธรรมชาติ ที่สำคัญ กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนเรานิยมนำมาบริโภคเนื้อ เมื่ออยู่ตามธรรมชาติ หากินตามธรรมชาติ ก็ย่อมที่จะทำให้คุณภาพของเนื้อกบย่อมที่จะดีกว่ากบที่ผ่านการเจริญเติบโตมาจากการกินอาหารวิทยาศาสตร์ ที่คนเราผลิตขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโต ที่สำคัญ การเลี้ยงแบบนี้กบได้ออกกำลัง ซึ่งทำให้เกิดกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ จึงมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่า สรุปความแล้ว ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าตามแนวพระราชดำริ แห่งนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และเกษตรกรทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาดูงานแล้วนำกลับมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 17 กันยายน 2558