เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นักเศรษฐศาสตร์คาดกนง.คงดอกเบี้ยรอประเมินผลประชุมเฟด

ข่าววันที่ :14 ก.ย. 2558

Share

tmp_20151409104652_1.jpg

          การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็น การประชุมครั้งที่ 6 ของปี มีขึ้นก่อนที่จะ ทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 1 วัน โดยเฟดจะมีการประชุมกันระหว่างวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ ทำให้กนง.น่าจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เพื่อป้องกันความผันผวนที่เกิดขึ้นกับค่าเงินบาท และการประชุม กนง. รอบนี้ ยังถือเป็นนัดสุดท้ายของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ในการประชุมคณะกนง. วันที่ 16 ก.ย.นี้ เชื่อว่ากนง.จะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม เพื่อประคองไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป เนื่องจากเวลานี้มีหลายปัจจัยจากภายนอกที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งเป็นแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท

          "แม้ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทไทยในเวลานี้ เป็นปัจจัยภายนอก แต่สถานการณ์ข้างนอกยังไม่นิ่ง มีหลายเรื่องที่ต้องติดตามดูทั้งเศรษฐกิจของจีน เรื่องดอกเบี้ยของเฟด การอ่อนค่าของเงินริงกิต มาเลเซีย และการถูกลดเรทติ้งลงไปในระดับจังค์บอนด์ของบราซิล สถานการณ์เช่นนี้อาจไม่เอื้อที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อทำอะไรในช่วงนี้"

          :หวั่นลดดอกเบี้ยกดบาทอ่อน

          หาก กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก เกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าอยากเห็นค่าเงินบาทที่อ่อนลงกว่านี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าห่วงว่า เงินบาทจะอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ นอกจากนี้ภาครัฐเพิ่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็เข้ามามีส่วนช่วยดูแลเศรษฐกิจได้พอสมควร จึงน่าจะเป็นกลไกที่เข้ามาช่วยทดแทนนโยบายการเงินได้เชื่อคงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปี

          นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ บล.ทิสโก้ มองว่า กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ยาวถึงสิ้นปี เนื่องจากเวลานี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาช่วยเพิ่มเติม ทำให้ภาระในฝั่งของมาตรการการเงินบรรเทาลงได้บ้าง

          "ครั้งนี้น่าจะคงยาวไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี หลังจากนั้นคงมาดูว่า ทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะได้มากน้อยแค่ไหน กำลังซื้อของคนจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และน้ำมันซึ่งมีผลต่อเงินเฟ้อ จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งพวกนี้จะมีผล ต่อการกำหนดนโยบายการเงินในอนาคต" นายกำพลกล่าว

          :"อัตราแลกเปลี่ยน"กระตุ้นศก.

          นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร เชื่อว่า กนง.น่าจะ ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอดูผลการประชุมของเฟดซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ก่อน โดยภาพรวมเงินบาทถือว่า อ่อนค่าลงในระดับหนึ่งแล้ว มีการอ่อนค่าลงมาราว 10% ในรอบเกือบปีที่ผ่านมา

          "การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน ตอนนี้ น่าจะเหลือช่องทางหลักๆ คือการใช้อัตราแลกเปลี่ยน ส่วนเครื่องมือเรื่องดอกเบี้ยเวลานี้ถือว่าต่ำมาก เชื่อว่าน่าจะเก็บกระสุนเอาไว้ก่อน รอดูตัวเลข เศรษฐกิจในอนาคตว่าจะยังต่ำกว่าที่คาดหรือไม่"

          นอกจากนี้แล้ว ถ้าการประชุมวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ย เกรงว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์เงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่มองว่า กนง. อาจจะคงดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อน

          :ปัจจัยเสี่ยงภายนอกมีผลมาก

          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยประเมินว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% เพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง แม้ว่าขณะนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่

          สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในยังคงเป็นเรื่องเดิม แต่ดูจะลดแรงกดดันลงไปบ้าง ทั้งเรื่องกำลังซื้อและความต้องการซื้อจากภายในประเทศยังคงอ่อนแรง ซึ่งต้องรอดูว่านโยบายกระตุ้นของภาครัฐจะได้ผลมากน้อยเพียงใด เวลานี้อาจยังเร็วไปที่จะประเมิน

          ส่วนปัจจัยภายนอก ความเสี่ยงเริ่มมีมากขึ้นจากทั้งเศรษฐกิจจีนและการปรับนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งต้องติดตามดูว่าการประชุมเฟดรอบนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

          :กนง.รอผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

          "เชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูว่ามาตรการกระตุ้นของภาครัฐ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีผลก็คงลดแรงกดดันที่ต้องปรับดอกเบี้ยลงไปบ้าง ขณะเดียวกันการประชุมของเรามีขึ้นก่อนเฟดในเกือบทุกรอบ จึงคิดว่า กนง. คงอยากรอดู การประชุมของทางเฟดก่อน และประเด็นที่ผมสงสัยคือเรายังมีความสามารถเหลือเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับเฟดอยู่หรือไม่ แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบาย ยังมีพื้นที่ในการปรับลดได้อยู่ ถ้าเศรษฐกิจไทยออกมาไม่ดีจริงๆ"นายอมรเทพ กล่าว

          :ตลาดเงินคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย

          นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มองความจำเป็นที่กนง.ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจขณะนี้มีน้อยลง โดยเฉพาะ หลังจากที่ภาครัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นมาตรการเชิงรุก ทำให้ความจำเป็นที่ นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมมีน้อยลงตามไปด้วย หลังจากนี้เชื่อว่า นโยบายการเงินจะทำหน้าที่ดูแลในเชิงเสถียรภาพมากขึ้น

          นอกจากนี้ ตลาดเงินเริ่มคาดการณ์ว่า เฟด อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ หรือไม่ก็การประชุมรอบเดือนธ.ค. ซึ่งถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ กนง. ลดดอกเบี้ยลง เกรงว่าจะยิ่งเพิ่มความผันผวนของค่าเงินบาทมากขึ้น ทีเอ็มบี จึงมองว่า การประชุม กนง. รอบนี้ น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5%

          โลกจับตาท่าทีดอกเบี้ยเฟด

          ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)อาจขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีในการประชุมสัปดาห์นี้ ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพากันจับตาดูความเคลื่อนไหวของเฟด โดยนักเศรษศาสตร์หลายคนเรียกร้องให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพราะตลาดหุ้น-ตลาดเงินยังแตกตื่นไม่หายกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่เจ้าหน้าที่ของประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศกล่าวว่าเฟดควรเคลื่อนไหวได้แล้วเพื่อให้กระแสการคาดหมายต่างๆ ยุติลงเสียที

          สภาพการณ์ดังกล่าวตอกย้ำการท้าทาย อันแสนซับซ้อนที่ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐต้องเผชิญในการประชุมวันที่ 16-17 ก.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยจาก 0-02.5% อันเป็นระดับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551 หรือไม่

          เฟดปรารถนาจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเติบโตแข็งแกร่งเพียงพอ แต่ความปั่นป่วน ในตลาดการเงินโลกช่วงเดือนที่ผ่านมายังไม่บรรเทาลง ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะมีผลกระทบต่อโลกมากน้อยแค่ไหน

          หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ต้นทุน กู้ยืมของรัฐบาลหลายประเทศและบริษัทหลายแห่งเพิ่มขึ้น แม้นักวิเคราะห์ชี้ว่าต้นทุนต่างๆ เริ่มเพิ่มขึ้นแล้วจากการคาดหมายว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย

          ทั้งนี้ ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แนะว่าเฟดสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปได้ แต่บางฝ่ายระบุว่าถึงเวลาของการยุตินโยบายดอกเบี้ยต่ำหรือนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้มานาน 7 ปีแล้ว

          "อัตราดอกเบี้ยของเราอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ เราต้องปรับดอกเบี้ยสู่ระดับปกติ" นายโรเบิร์ต มอร์แกน แห่งสมาคมนักการธนาคารอเมริกัน ระบุ

          เป็นเวลานานหลายเดือนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด(เอฟโอเอ็มซี) เล็ง เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. โดยเอฟโอเอ็มซียึดการตัดสินใจเบื้องต้น จากตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ ซึ่งนับถึงปัจจุบันตลาดแรงงานแข็งแกร่ง เห็นได้จากอัตรา ว่างงานที่ลดเหลือ 5.1% ในเดือนส.ค. อันต่ำที่สุด ตั้งแต่เดือนเม.ย.2551 สำหรับเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ประมาณ 2% เพราะราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ลดลง

          เมื่อเดือนที่แล้ว นายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า เฟดจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อขึ้นถึง 2% จึงเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย

          นายแอนดรูว์ เลวิน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยดาร์ตเมาธ์ ซึ่งทำงานกับเฟดมา 20 ปี กล่าวว่า แม้แต่ตัวเลขอัตราว่างงานก็ยังไม่เอื้อให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย เพราะยังมี หลักฐานมากมายว่าตลาดแรงงานยังซบเซา รวมถึงจำนวนคนอเมริกัน 2.5 ล้านคนที่เลิกมอง หางาน อีกทั้งยังมีผู้คนจำนวนมากที่ถูกบีบให้ต้องทำงานนอกเวลาเท่านั้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 กันยายน 2558