เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เดินเกมการค้าอย่างไรเมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยน?

ข่าววันที่ :11 ก.ย. 2558

Share

tmp_20151109122343_1.jpg

          บริบทแวดล้อมซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน การเติบโตของการค้าโลกในระยะต่อไป ได้แก่ 1) กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักการเติบโตของการค้าโลก จากกำลังซื้อที่สูงขึ้นและการก้าวเข้าสู่สังคมเมือง รวมไปถึงการค้าขายกันเองภายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มเติบโต

          2) ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มเติบโตได้โดดเด่นกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นจากผู้บริโภค ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ยาและเภสัชภัณฑ์ที่มี แนวโน้มขยายตัวดีท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

          3) การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งในส่วนของรูปแบบสินค้าและบริการ หรือแม้แต่เทคโนโลยีและรูปแบบการค้าใหม่ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้และเร่งปรับตัวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หนึ่งในจุดเปลี่ยนเกมการค้าสำหรับไทยในการยกระดับศักยภาพการผลิตและเอื้อให้ภาคส่งออกสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระยะยาว คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

          Agro-Based และอาหารแปรรูป คือ อุตสาหกรรมซึ่งมีศักยภาพในการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก โดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรกรรมแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออก ลดความผันผวนด้านราคาจากการส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้น

          ที่สำคัญต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอีกด้วย ภาคบริการเองก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงการนำเสนอบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ดีขึ้น

          ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์พบว่า หัวใจสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยมูลค่าเพิ่มมาจากปัจจัยพื้นฐานหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

          2) การพัฒนาคนผ่านระบบการศึกษาและการเร่งผลิต นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงาน 3) การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งภาคธรุกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของสินค้าและบริการไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น

          ศูนย์กลางการค้า คืออีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของภูมิภาค และดึงดูดให้ ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงาน การค้าในไทย

          หัวใจสำคัญ 5 ประการของการเป็นศูนย์กลางการค้า คือ 1) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตและตลาดเป้าหมาย

          2) โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการขนส่งและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 3) พิธีการศุลกากรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน 4) สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจและเอื้อต่อการค้าการลงทุน 5) สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

          การเป็นศูนย์กลางการค้า นอกจากจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรและขีดความสามารถในการแข่งขันเติบโตของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรและขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย

          ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารซึ่งไทยมีความได้เปรียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

          อย่างไรก็ดี ประเด็นเร่งด่วนที่ไทยต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่ 1) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบขนส่งและคมนาคมเพื่อรองรับการเติบโตของการค้าในอนาคต

          2) การปรับปรุงระบบศุลกากรให้มีความเป็นมิตรต่อการค้าเพิ่มความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกในกระบวนการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในภาคธุรกิจก็ ต้องวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง และมองหาช่องทางและโอกาสในการทำการค้ากับต่างประเทศ และต้องใช้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ

          ขณะเดียวกันการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล คืออีกหนึ่งเทรนด์ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะสินค้าและบริการ รวมทั้งรูปแบบธุรกิจที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีความทันสมัยมาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

          การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าจากทั่วโลก ลดต้นทุนในการเข้าถึงสินค้าและบริการ เพิ่มการแข่งขัน เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

          ดังนั้น การปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจให้สอดรับกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้--

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 กันยายน 2558