เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

120 ปี..กรมป่าไม้ กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่

ข่าววันที่ :7 ก.ย. 2558

Share

tmp_20150709095332_1.jpg

          สำหรับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในปัจจุบันมักทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีเป็นขบวนการเครือข่ายตั้งแต่นายทุนลงมาจนถึงชาวบ้านในพื้นที่ บุกรุกเพื่อทำรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ขยายพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าวโพด สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยโฉนดที่ดินมักซื้อขายเปลี่ยนมือกันเป็นทอด ๆ จากนั้นก็จะบุกรุกพื้นที่ป่าขยายไปยังบริเวณรอบข้างเรื่อย ๆ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากจะแก้ปัญหาจากภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาจึงต้องมาจากความร่วมมือจากภาคประชาชน ดังนั้นหน่วยงานอย่าง “กรมป่าไม้” ที่ครบรอบวันสถาปนา 120 ปี ในวันที่ 18 กันยายนนี้ ต่างทำงานดูแลปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของประเทศมาโดยตลอด ทั้งวางแผน ประสานงานเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า ระบบนิเวศ ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าอย่างโครงการ“ป่าชุมชน”ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมป่าไม้ที่มีแนวคิดเพื่อให้“คนกับป่า”อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข โดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากพูดถึง“ป่าชุมชน”หลาย ๆ คนคงทราบกันดีอยู่บ้างแล้วว่า เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่มี การจัดการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยประชาชนสามารถเข้าไปใช้สอยตามวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ โดยสภาพป่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ขณะที่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับป่าชุมชน เพราะมองว่าเป็นการฉวยโอกาสให้คนมาทำลายป่า ใช้ประโยชน์จากป่าโดยไม่คิดที่จะอนุรักษ์หรือร่วมกันฟื้นฟู เกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า และเหตุผลอีกนานัปการที่ต่อต้านป่าชุมชน อย่างไรก็ตามด้าน ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะผู้ดูแลทรัพยากรป่าไม้และรับผิดชอบเรื่องป่าชุมชน ได้เปิดเผยถึงประโยชน์ของป่าชุมชนว่า ป่าชุมชนมีประโยชน์กับประเทศชาติในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่ชุมชนสามารถพึ่งพิงและใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อการยังชีพในครัวเรือน อันเป็นการส่งเสริม การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านสามารถสร้างรายได้ต่ำสุดปีละ200,000บาท ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าแบบพึ่งพาอาศัยกัน “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ก็เป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมของชุมชนอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือความเสียหายแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้อีกด้วย” ดร.ธีรภัทร เผยอีกว่า ส่วนประโยชน์ด้านสังคม ชุมชนจะเกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นภายในชุมชน และนำมาซึ่งความยั่งยืนในการบริหารจัดการป่าชุมชน “ขณะที่ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ป่าชุมชนจะช่วยรักษาสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งดูดซับน้ำ ช่วยป้องกันการเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และปลดปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ ช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน”ดร.ธีรภัทร อธิบายถึงประโยชน์ ส่วนกฎหมายที่รองรับเพื่อป้องกันคนบางกลุ่มที่หวังประโยชน์จากป่าด้วยการทำลายป่าอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กฎหมายที่ มีอยู่ครอบคลุมดูแลในทุกพื้นที่ป่า โดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ตามประเภทพื้นที่ อาทิ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507ที่ดูแลป้องกันไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้แต่ พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537ที่ ให้ส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลายคนสงสัยว่า’ป่าชุมชน“ จะทำให้คน ป่า และสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้จริงหรือ และมีการจัดการอย่างไรอธิบดีกรมป่าไม้ ชี้แจงว่า โซ่อาหารในป่าชุมชนจะทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศทำให้คน ป่า และสัตว์ป่า อยู่อย่างเกื้อกูลและไม่เบียดเบียนกัน ป่าจะเป็นแหล่งอาหารให้คนและสัตว์ป่า ส่วนสัตว์ป่าช่วยทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของต้นไม้ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในป่า ป่าชุมชนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้และรวบรวมสัตว์ป่า พืชพันธุ์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ส่วนระบบการจัดการทั้ง3ส่วนนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ ให้ความกระจ่างว่าป่าชุมชนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ผ่านประชามติของชุมชนควบคู่กับการใช้กฎหมาย โดยแบ่งโซนพื้นที่เป็น3ส่วน คือ1. พื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย 2. พื้นที่สงวน และ 3. พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ในการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วยการเชื่อมโยงพื้นที่ในรูปแบบแนวกันชนที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และใช้หลักภูมิสังคมมาประยุกต์ในการออกแบบพื้นที่ โดยไม่ต้องอพยพย้ายประชากร แต่จำกัดขอบเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ และกำหนดวัตถุประสงค์แต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ทั้งการควบคุมและการส่งเสริม “โดยรูปแบบแนวกันชนหรือพื้นที่ป่ากันชนนี้ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมป่าไม้ จึงร่วมกับกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการเกษตร ส.ป.ก. ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ และการปลูกป่าไม้ใช้สอยเป็นการเพิ่มป่าเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีป่าชุมชนแล้วจำนวน9,446 แห่ง รวมพื้นที่กว่า4ล้านไร่” ดร.ธีรภัทร ทิ้งท้าย กรมป่าไม้จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมป่าชุมชนให้มีการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถทำให้ คน สัตว์ป่า และป่า อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและไม่เบียดเบียนกัน.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 7 กันยายน 2558