เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ต่อยอดพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง

ข่าววันที่ :2 ก.ย. 2558

Share

tmp_20150209113050_1.jpg

           ในปี 2557 ที่ผ่านมา กรมชลประทานร่วมกับสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำสามพร้าว ไปจนถึงปากน้ำลำห้วยหลวง ครอบคลุมพื้นที่ 2,160 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ในเขต 6 อำเภอของ จ.อุดรธานี คือ อ.เมือง อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง อ.สร้างคอม และ 1 อำเภอของ จ.หนองคาย คือ อ.โพนพิสัย โดยการศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมบริหารจัดการของประตูระบายน้ำห้วยหลวงที่มีปัญหามายาวนานด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งควบคู่กัน กำหนดพื้นที่น้ำท่วมจากการดำเนินการของประตูระบายน้ำห้วยหลวงที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางการลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมในลําน้ำห้วยหลวง เพื่อกำหนดขอบเขตน้ำท่วมที่เหมาะสม และที่สำคัญเพื่อต้องการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม เสนอความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ห้วยหลวงตอนล่างในทุกขั้นตอน ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ผ่านขบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง คือ ปัญหาน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ น้ำเน่าเสีย และการกระจายตัวของน้ำเค็ม หากจะให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปัญหาของประตูระบายน้ำห้วยหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่เป็นการลงทุนแบบสูญเปล่าแล้ว จะต้องดำเนินโครงการสำคัญ ๆ อย่างน้อย 6 โครงการ ด้วยกันคือ 1. โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและน้ำเสีย 2. โครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ-พัฒนาแก้มลิงพร้อมระบบชลประทานประตูระบายน้ำดงสระพัง แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งและน้ำเสีย 3. โครงการประตูระบายน้ำหนองสองห้อง สถานีสูบน้ำถ่อนนาเพลินพร้อมระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง 4. โครงการสูบน้ำพื้นที่ชลประทานห้วยหลวง-คลองดัก แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง 5.โครงการสถานีสูบน้ำบ้านนาคำพร้อมระบบชลประทาน แก้ปัญหาภัยแล้ง และ 6. โครงการประตูระบายน้ำดอนกลอย-สถานีหนองบัว แก้ปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการในเบื้องต้นอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง และโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำ-พัฒนาแก้มลิงพร้อมระบบชลประทานประตูระบายน้ำดงสระพัง ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำทั้งในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ได้ถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเปิดพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ประมาณ 250,000 ไร่ และในฤดูแล้งได้ประมาณ 102,000 ไร่ รวมทั้งยังมีปริมาณมากพอสำหรับการอุปโภคบริโภคทั้งลุ่มน้ำ ตลอดจนสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 13,900 ไร่ ช่วยลดระยะเวลาน้ำท่วมขังได้ประมาณ 45 วัน “โครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างดังกล่าว เป็นการศึกษาโดยดูปัญหาเป็นที่ตั้ง ว่าเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน มีขอบเขตของปัญหาอย่างไร และประชาชนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อะไรที่แก้ได้ อะไรที่แก้ไม่ได้ เพื่อจะนำไปสู่การทำแผนที่ถูกต้องแม่นยำ โดยไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปที่เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกฝ่ายยอมรับ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ๆ ก็จะสามารถขับเคลื่อนได้” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชล ประทาน กล่าว.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 2 กันยายน 2558