เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

'ปาล์ม-ยาง'ราคาร่วงหนักสต๊อกล้นขอรัฐจ่ายเงินตรง

ข่าววันที่ :2 ก.ย. 2558

Share

tmp_20150209105618_1.jpg

          ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทีมเศรษฐกิจ ชุดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่งผลกระทบไปถึงกำลังซื้อ ในต่างจังหวัดลดลง จนเป็นที่มาให้รัฐบาลต้องคิดแพ็กเกจการใส่เงินลงไปที่ตัวเกษตรกร อย่างน้อยก็จะต้องให้ผ่านพ้นในช่วงนี้ไปให้ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศทั้งระบบ

          ข้าวทั้งปียืนพื้น 8,000 บาท/ตัน

          ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลผลิตข้าวปี 2558/2559 ทางภาคเอกชนประเมินว่า จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2557/2558 คือระหว่าง 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของฤดูนาปี รัฐบาลควรกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือถึงเกษตรกรด้วยวิธีการ "ชดเชย" รายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง เช่น หากตั้งราคาที่เกษตรกรควรขายได้ตันละ 15,000 บาท แต่ช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมามากอาจจะขายได้ตันละ 13,000-14,000 บาท รัฐบาลก็ช่วยเหลือชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดให้ 1,000-2,000 บาท

          ยกตัวอย่าง ผลิตข้าวได้ 6-7 ล้านตัน ข้าวเปลือก จะใช้เงินวงประมาณ 6,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยเกษตรกรได้โดยตรง เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบรากหญ้า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด ส่วนวิธีการที่ดำเนินการในฤดูกาลที่ผ่านมา เช่น โครงการลดต้นทุนการผลิต หรือชดเชยดอกเบี้ยนั้น ในทางปฏิบัติไม่ค่อย จะได้ผลดีเท่าไรนัก

          "การส่งออกข้าว 7 เดือนแรก มีปริมาณ 5.1 ล้านตัน หรือลดลง 7.6% ผมยอมรับว่าเป้าหมาย 9.5-10 ล้านตัน ยังเป็นไปได้ยาก เพราะเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และมีการแข่งขันราคาอย่างรุนแรง เช่น เวียดนามลดราคาข้าวขาวเหลือตันละ 335 เหรียญสหรัฐ แต่ไทยเสนอราคาขาย 365 เหรียญ แต่ที่ยังแข่งขันได้เพราะค่าเงินบาทไทย อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี พอ ๆ กับเวียดนามที่อ่อนค่าเงินด่องมา 2 ครั้ง รวม 4-5% ซึ่งผมหวังว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอ่อนลงไปถึง 36-37 บาท ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจะว่ากระทบก็กระทบ แต่ถึงอย่างไรรัฐก็ต้องระบาย เพียงแต่อย่าให้ราคาต่างกันมาก อย่างในปีนี้ระบายข้าวได้ 4 ล้านตัน ถือว่าเก่งแล้ว ราคาข้าวเก่า กก.ละ 10 บาท ข้าวใหม่ กก.ละ 11.80-11.90 บาท ต่างกัน กก.ละ 1-2 บาท ดีกว่าปีก่อนที่ราคาต่างกัน 8 บาท โดยข้าวเก่า กก.ละ 10 บาท ข้าวใหม่ กก.ละ 18 บาท"

          ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรมีชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเพื่อจูงใจให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางชะลอการขาย และมาตรการจูงใจให้ผู้ส่งออก/ผู้ประกอบการข้าวถุงซื้อเก็บสต๊อก เช่น ชดเชยค่าเก็บสต๊อก ชดเชยค่าส่วนต่างของราคาข้าวในกรณีที่ผู้ประกอบการซื้อเก็บสต๊อกแล้วราคาตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนพฤศจิกายนนี้

          นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคม โรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมกำลังรอนโยบาย ที่ชัดเจนของทีมเศรษฐกิจใหม่ สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ ข้าวเปลือกเจ้า 5% (แห้ง) ตันละ 8,100-8,500 บาท เพิ่มขึ้น มาจากก่อนหน้านี้ เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตยังไม่ออกสู่ตลาด ทำให้โรงสีต้องแย่งซื้อข้าว ขณะที่นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่าย ชาวนาไทย กล่าวว่า ขณะนี้ข้าวเกี่ยวสด มีความชื้นสูง มีราคาต่ำลงเหลือเพียงตันละ 6,800-7,200 บาท ส่วนข้าวแห้งยังอยู่ในระดับตันละ 8,000 บาท รัฐบาลควรขยายระยะเวลาการใช้มาตรการชะลอการขายข้าว ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือศูนย์พันธุ์ข้าวชุมชนด้วย

          ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า กระทรวงพาณิชย์จะเปิดประมูลราคาซื้อข้าวสารจากสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 6/2558 เป็นข้าว 10 ชนิด อาทิ ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวเหนียว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% เลิศ ข้าวหอมมะลิ 100% ปริมาณรวม 732,806.10 ตัน โดยให้ยื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 7 กันยายนนี้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จะมีขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2558 กระทรวงพาณิชย์จะเสนอแนวทางการระบายข้าวในสต๊อกสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวน 5.89 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเกรดซี 4.6 ล้านตัน และข้าวเสียเป็นฝุ่นผง 1.29 ล้านตัน และข้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีอีก 70,000 ตัน

          มันเส้นเขมรทะลักฉุดราคามันไทย

          นายมาโนช วีรกุล นายกสมาคมโรงงาน ผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2558/2559 จากการสำรวจครั้งล่าสุดจะมีประมาณ 32.942 ล้านตัน หรือต่ำกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.99 ขณะที่ความต้องการใช้จะมีประมาณ 40 ล้านตัน แต่ถ้าเกษตรกรขุดหัวมันออกมาพร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม 2558-เมษายน 2559 อาจจะทำให้ราคาหัวมันลดลงต่ำกว่า กก.ละ 1.90-2 บาทได้

          ดังนั้นรัฐบาลควรกำหนดมาตรการออกเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการระยะสั้น รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยค่าขุดและค่าขนส่งให้เกษตกรผู้ปลูกมันโดยตรง จำนวน 6 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 600-700 บาท คิดเป็นเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท ในส่วนผู้ประกอบการขอให้รัฐบาลจัดทำโครงการให้สินเชื่อชะลอการขายผลผลิต ด้วยการชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อหัวมันจากเกษตรกร กก.ละ 2.50 บาท แต่มีเงื่อนไขให้ซื้อมันเส้น/แป้งมันเก็บสต๊อกไว้เป็นเวลา 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2559 เพื่อดูดซับปริมาณซัพพลายส่วนเกินที่จะออกมาพร้อมกัน คาดว่าจะดูดซับมันส่วนเกินทั้งหมด 10 ล้านตัน ใช้เงินปริมาณ 250 ล้านบาท

          ด้านแหล่งข่าวในวงการค้ามันเปิดเผยว่า ช่วงวิกฤตของราคาหัวมันสดจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หัวมันสดของกัมพูชาออกสู่ตลาด โดยในปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันว่า กัมพูชามีผลผลิตมันสำปะหลังถึง 10-11 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกส่งเข้ามาในไทยเพื่อขายเป็นมันเส้นส่งออกไปยังจีนอีกต่อหนึ่ง "มันเส้นเขมรที่ทะลักเข้ามามีผลต่อราคาหัวมันสดของไทยโดยตรง โดยปีที่ผ่านมา บางช่วงราคาหัวมันสดของไทยเคยร่วง ลงมาถึง 1.80 บาท ปีนี้คาดการณ์กันว่า มันเขมรจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20-30% หรือมากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับถูกจีนกดราคาจากสาเหตุผู้ส่งออกของไทยบางรายซื้อมันเส้นคุณภาพต่ำ (ตากสด) มาส่งออก แต่ในปีนี้ยังมีเรื่องของค่าเงินหยวน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ซื้อในจีนเริ่มส่งสัญญาณขอให้ผู้ส่งออกไทยลดราคาขายมันเส้นลง" แหล่งข่าวกล่าว

          ยางร่วงหนักเหลือ 40 บาท/กก.

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์ราคายางเข้ามาว่า ราคายาง ที่ผ่านมาได้ขยับขึ้นสูงสุดในวันที่ 2 มิถุนายน 2558 โดยน้ำยางสด ณ หน้าโรงงานในภาคใต้อยู่ที่ กก.ละ 61 บาท เนื่องจากองค์การศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) รายงานว่า ผลผลิตยางปี 2557 ใกล้เคียงกับความต้องการใช้มาก หลังจากตกลง ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 ในขณะที่ผลผลิตในช่วงดังกล่าวมีน้อยจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ ฝนแล้งยาวนาน รวมทั้งราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น

          หลังจากนั้นราคายางภายในประเทศก็ได้ตกลงมาตลอด เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลง จากการที่อิหร่าน จะผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ อีกครั้งช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ หลังได้ข้อยุติ ข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจ อีกทั้งองค์การศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) ระบุว่า ผลผลิตยางธรรมชาติในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.4 หรืออยู่ที่ 12.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 12.07 ล้านตัน "มากกว่า" ความต้องการเพิ่มของตลาดโลก ที่จะอยู่ในระดับ 2-3% ต่อปี

          ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง เศรษฐกิจประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่คือ จีน ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งผลกระทบ ต่อความต้องการใช้ยาง ประกอบกับราคาน้ำมัน วัตถุดิบตั้งต้นผลิตถุงมือยางเทียม ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ราคาน้ำยางสด หน้าโรงงานในภาคใต้ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงหล่นลงมาอยู่ที่ 42 บาท/กก. เท่านั้น

          น้ำมันปาล์มสต๊อกล้นประเทศ

          นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาผลปาล์มปัจจุบันอยู่ระหว่าง 2.90-3 บาท/กก. ถือว่า "ราคาลดลงอย่างมาก" ประกอบกับตอนนี้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังไม่ได้ออกมารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 200,000 ตัน จากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบที่เข้าร่วมโครงการตามมติของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ส่งผลให้โรงสกัดไม่สามารถรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรได้เช่นกัน

          แหล่งข่าวจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเปิดเผยว่า ขณะนี้สต๊อกของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเต็ม ไม่สามารถระบายน้ำมันปาล์มออกไปได้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบ ในประเทศ (26.20 บาท) กับราคาตลาดโลก (มาเลเซีย 15 บาท-ผลจากราคาน้ำมันดิบ ลดต่ำลง) มีส่วนต่างกันถึง 11 บาท/กก. โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ก็อยู่ในภาวะสต๊อกเต็มเช่นกัน จนต้องลดราคาจำหน่ายลงมา ล่าสุดประมาณการกันว่า สต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศตอนนี้น่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 400,000 ตัน ส่งผลกระทบไปถึงราคาผลปาล์มจะต้องร่วงลงมาอีก

          "กก.ปาล์มกำหนดให้โรงสกัดซื้อผลปาล์ม จากเกษตรกรที่ราคา 4.20 บาท/กก. และ อคส.จะออกมารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดจำนวน 200,000 ตัน ในราคา 26.20 บาท/กก. แต่จนบัดนี้ อคส.ก็ยังไม่ออกมารับซื้อ โดยอ้างว่าเอกสารของ เกษตรกรที่ขายผลปาล์ม 4.20 บาท ให้โรงสกัดไม่ครบถ้วน ซื้อไม่ได้ กลายเป็นปัญหาคาราคาซังในระเบียบปฏิบัติ โรงสกัด ก็ไม่มีสภาพคล่องเลยต้องแบกสต๊อกจนล้น สุดท้ายจึงส่งผลกระทบมาถึงราคาปาล์มของเกษตรกร ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะรัฐบาลเองไปบิดเบือนราคาตลาดภายใน แถมตอนนี้ ยังมีน้ำมันปาล์มเถื่อนที่ราคาต่ำกว่าไทยถึง 10 บาท ทะลักเข้ามาในประเทศด้วย" แหล่งข่าวกล่าว

          รายได้เกษตรกรติดลบ -15.6%

          ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2558 พบว่า ผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงและผลผลิตทางการเกษตร ที่หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรลดลง 15.6% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนโดยเฉพาะภาคการเกษตรค่อนข้างมาก ถือเป็นสาเหตุให้ "ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่" ของรัฐบาลต้องพยายามอัดฉีดเงินเข้าสู่กลุ่มดังกล่าว

          ทั้งนี้เดือนกรกฎาคม ราคาสินค้าเกษตรติดลบ 6.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลัก ๆ มาจากการหดตัวของราคายาง ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ด้านผลผลิตทางการเกษตรหดตัว 9.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นไปตามการหดตัวของผลผลิตข้าวนาปรังที่มีการลดพื้นที่เพาะปลูกตามนโยบายของรัฐบาลจากปัญหาภัยแล้ง "ความเชื่อมั่นด้านราคาสินค้าเกษตรขณะนี้เป็นลบ แต่หากมองไปข้างหน้าก็ต้องจับตาดูว่า เงินจากกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดใหม่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะเป็นตัวช่วยให้รายได้ภาคการเกษตรปรับดีขึ้นหรือไม่" นายดอนกล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 6 ก.ย. 2558