เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ธ.ก.ส.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ประกันนาข้าว5-10ล้านไร่

ข่าววันที่ :2 ก.ย. 2558

Share

tmp_20150209100832_1.jpg

          วานนี้ (1 ก.ย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "ประกันภัยพืชผลอย่างไรให้ยั่งยืน" เพื่อระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและภาครัฐ มาปรับปรุงให้การประกันภัยพืชผลให้มีความเหมาะสมกับเกษตรกรไทย ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต และลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.มีแผนจะส่งเสริมให้เกษตรกรประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมากขึ้น ทั้งในส่วนของพื้นที่ และชนิดของพืชผลทางการเกษตร โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ประกันภัยนาข้าวจาก 1.5ล้านไร่ เป็น 5-10 ล้านไร่ และอาจจะขยายสู่พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังด้วย

          นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายการประกันภัยให้ครอบคลุมพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการบริหารความเสี่ยง โดยหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะช่วยทำให้อัตราการจ่ายเบี้ยประกันภัยลดลง

          "ที่ผ่านมา เกษตรกรต้องพบกับความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน กระทบโดยตรงกับผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร แม้ว่าภาครัฐจะมีการเยียวยาให้เกษตรกรที่ประสบภัย แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ การประกันภัยพืชผลจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยในการบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนโยบายของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่อยากให้มีรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมเกษตรกร"

          ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการนำร่อง จากข้อมูล ณ วันที่ 25 ส.ค.2558 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว จำนวน 92,031 ราย รวมเนื้อที่เอาประกันภัยจำนวน 1.511 ล้านไร่

          ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเป็นลักษณะการร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชน หรือ พีพีพี โดยรัฐจะช่วยอุดหนุนเรื่องเบี้ยประกันภัย ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

          ด้านนายลวรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาการเงิน  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรทำประกันภัยผลผลิตค่อนข้างน้อย ทำให้เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ความช่วยเหลือที่ได้รับไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต โดยต้นทุนการผลิตในการปลูกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 4 พันบาทต่อไร่ เมื่อเกิดความเสียหาย รัฐบาลช่วยเหลือชดเชยให้ 1.11 พันบาทต่อไร่ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 15% ของต้นทุนจริง

          ดังนั้นหากต้องการส่งเสริมให้เกษตรทำประกันภัยผลผลิตมากขึ้น ต้องหาแนวทางจูงใจ เช่น การปรับลดเงินชดเชยให้ จากเดิม 1.1 พันบาทต่อไร่ ลงเหลือ 600-800 บาทต่อไร่ แล้วไปเพิ่มการอุดหนุนช่วยเกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัยแทน หากเกิดความเสียหาย เกษตรกรก็จะได้รับเงินประกันภัยที่สูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็จะมีภาระในการจ่ายเงินชดเชยน้อยลง

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2558