เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ธปท.ชี้ดอกเบี้ยเหมาะศก.ไทยเดินหน้าคลายกฎเปิดทางบาทอ่อน

ข่าววันที่ :31 ส.ค. 2558

Share

tmp_20153108091935_1.jpg

          นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในขณะนี้ เพื่อประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการทำนโยบายการเงินของไทย ยอมรับว่าประสิทธิภาพของดอกเบี้ยนโยบายลดลง อย่างไรก็ตาม ธปท.คงไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 0% เหมือนประเทศมหาอำนาจทำได้ และเห็นว่าปัจจุบันไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยระดับ 1.50% ต่อปี ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม

          "ในอดีตไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งขนาดการปรับมากที่สุด คือ 1% อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ระดับใด เรามีตัวเลขอยู่ในใจแล้ว แต่คิดว่าคงไม่น่าจะต่ำกว่านี้ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 1.50%ต่อปี"

          ต่อข้อซักถามที่ว่าหลายประเทศเริ่มหันสงครามค่าเงินมากขึ้นในปัจจุบันนั้น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เมื่อคนหนึ่งเริ่ม คนที่เหลือลงมาเล่นค่าเงินในระดับต่ำกว่า ส่วนใหญ่ต้องการดูแลภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่ต้องการกดให้ค่าเงินอ่อนค่าไปในทิศทางเดียว อย่างไรก็ตาม ค่าเงินอ่อนค่ามากเกินไปไม่ดีนัก อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการดำเนินนโยบาย แต่ยังคงมีเครื่องมืออื่นอีกมากในการดูแลภาวะเศรษฐกิจ

          กรณีที่ประเทศไทยมีแผนจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตนั้นมองว่าจะช่วยให้การเคลื่อนไหวเงินบาทเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง กล่าวคือ ในบางจังหวะเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่า โดยเมื่อการลงทุนเกิดขึ้นจริง ทำให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบต่างๆ ฉะนั้น เงินบาทจะไม่ใช่อ่อนหรือแข็งค่าไปในทิศทางเดียว

          เปิดทางพวกทุนหนาออกไปลงทุนนอก

          รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลาปี 58-60 ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และในปี 59 ถือเป็นปีแรกเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่มีทุนหนาและเป็นมืออาชีพออกไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศทุกประเภทโดยไม่ผ่านตัวกลาง โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพพย์สภาพคล่องที่สามารถแปลงเป็นสดได้ง่ายทั้งเงินฝาก พอร์ตการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ยกเว้น ที่ดิน ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 1,000-5,000 ล้านบาท จึงอนุญาตให้นักลงทุนแต่ละรายไปลงทุนต่างประเทศได้ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

          "ในปี 60 จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยทั่วไปทำได้เช่นกัน พร้อมทั้งขยายวงเงินไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศทุกประเภท ซึ่งรวมถึงเงินฝากในต่างประเทศ และอนุพันธ์เฉพาะในตลาด exchange เสมือนการเปิดวาล์ว เพราะเห็นว่าสถานการณ์เอื้ออำนวยและคนไทยมีความพร้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนต้องไม่ใช่เงินจากการกู้ยืม" รองผู้ว่าการกล่าว และว่า ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยมีการลงทุนผ่านตัวกลางอยู่ที่ 3-4 หมื่นเหรียญสหรัฐ ถือว่ายอดการลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะธปท.ผ่อนคลายต่อเนื่อง และจำนวนนักลงทุนยังน้อยอยู่ ส่วนใหญ่คำนึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่อง สำคัญ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข้าวจาก : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 31 สิงหาคม 2558