เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานจับมือจังหวัดร้อยเอ็ด จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ

ข่าววันที่ :10 ส.ค. 2558

Share

tmp_20151008110334_1.jpg

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้จัดโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2558 ขึ้น โดยได้ดำเนินการภายใต้ภารกิจหมู่บ้านเฉลิมพระ เกียรติใน 10 หมู่บ้าน 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และล่าสุดได้เปิดโครงการที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงาน ณ หมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติบ้านม่วงน้ำ ตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งนอกเหนือจะมีการร่วมกันปลูกป่าในบริเวณพื้นที่ของชุมชนแล้ว ทางกลุ่มงานฝึกอบรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนครยังได้นำพันธ์ุปลามาปล่อยลงสระน้ำ ในพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ และสระน้ำชุมชนของหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติบ้านม่วงน้ำ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกด้วย พร้อมกันนี้ทางศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานฯ ยังได้จัดทำถังเก็บน้ำความจุ 25,000 ลิตร จำนวน 21 ถัง เพื่อเก็บกักน้ำจาก 2 แหล่งน้ำคือน้ำบาดาล และน้ำจากสระเก็บน้ำขึ้นมาพักไว้ เพื่อการใช้ประโยชน์ของชาวชุมชนอีกด้วย และได้มีการจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำระบบบริหารจัดการน้ำในฟาร์มให้แก่ศูนย์เรียนรู้ในชุมชนเพื่อเป็นแม่แบบ สำหรับการขยายผลสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป สำหรับสระน้ำภายในชุมชนนั้น ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ยังได้นำพันธ์ุสัตว์น้ำ ประกอบด้วย ปลาตะเพียนจำนวน 15,000 ตัว ปลานวลจันทร์จำนวน 15,000 ตัว ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อเป็นอาหารโปรตีนให้แก่ชาวชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน ร่วมกันจัดทำโครงการหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา ขึ้นภายใต้โครงการ “60 พรรษา 60 หมู่บ้าน 6 ศูนย์ศึกษา สร้างคน สร้างป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต” ซึ่งศูนย์ศึกษาฯ เป็นหน่วยงานที่ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการเกษตร ทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมด้านการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกและการทำกินของราษฎร ตลอดถึงการส่งเสริมการพัฒนาด้านอาชีพ มีการจัดทำแหล่งศึกษา และสาธิต เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตที่เป็นตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภายในศูนย์ฯ มีงานศึกษาค้นคว้าในแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ ตั้งแต่การผลิต การซื้อและการจัดจำหน่ายแบบครบวงจร ทั้งการเพาะปลูก ประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้และปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ที่มีการศึกษาถึงสภาพปัญหา สภาพท้องถิ่นหรือวิถีชีวิตของราษฎร เพื่อจัดหารูปแบบวิธีการพัฒนาและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่คำนึงถึงความผสานสอดคล้องระหว่างสภาพภูมิศาสตร์ อันได้แก่ทรัพยากรในท้องถิ่นและสภาพทางภูมิสังคมอันได้แก่ประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วขยายผลสำเร็จจากการศึกษาวิจัยทดลองเหล่านั้นสู่การปฏิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่ต่อไป ดังที่ดำเนินการในครั้งนี้เป็นต้น.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 สิงหาคม 2558