เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ชุมชนบางสระเก้า จันทบุรี อบรมแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล

ข่าววันที่ :7 ส.ค. 2558

Share

tmp_20150708095952_1.jpg

           ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้จัดวิทยากรสนับสนุนการฝึกอบรมของสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี เรื่อง “การเลี้ยงและการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล” ให้แก่ราษฎรชุมชนบางสระเก้าตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีเมื่อวันก่อน ซึ่งชุมชนบางสระเก้ามีสภาพเป็นที่ลุ่มแบบชายทะเล มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย เช่น คลองพลิ้ว คลองบางสระเก้า คลองหนองบัว เชื่อมติดต่อกันโดยตลอด จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งในพื้นที่น้ำเค็มน้ำกร่อยหรือกระทั่งในพื้นที่น้ำจืด หลายพื้นที่ในปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันในบ่อดิน เป็นปลาที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีสารอินทรีย์สูง มีอาหารธรรมชาติ เช่นขี้แดดอยู่ในปริมาณมาก พื้นที่แห่งนี้ในอดีตก่อนที่ชาวบ้านจะเข้ามาลงรากสร้างฐานเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ตั้งอยู่แถบชายทะเล มีลำคลองไหลผ่านเป็นการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างป่าไม้เบญจพรรณ ได้แก่ ต้นยางนา ต้นยางใต้ ตะเคียน ต้นไผ่ ต้นประดู่ ซึ่งเป็นพืชน้ำจืด และป่าชายเลน ได้แก่ ต้นโกงกาง ต้นจาก ต้นกวาด ต้นแสม ต้นลำพู ต้นลำแพน ต้นกะสัก ต้นโปรงต้นกะบูน ซึ่งเป็นพืชน้ำเค็ม จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหาอาหารของสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า เสือลายพาดกลอน เสือปลา นากทะเล จระเข้น้ำเค็ม ลิงแสม ปัจจุบันสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้ว ด้วยมีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน โดยผู้ที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานเป็นชนกลุ่มแรกเป็นชาวชองที่เป็นคนดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรี ต่อมามีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชาวญวน และคนไทยจากภาคใต้ โดยอาศัยการเดินทางด้วยเรือ และพื้นที่ตำบลบางสระเก้ามีทำเลเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่พักแรมและหลบมรสุม การติดต่อค้าขายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ยาวนานเป็นชุมชนใหญ่โตขึ้นจากที่พักชั่วคราวมาเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินหลักในปัจจุบัน และจากกลุ่มชนเชื้อชาติเดียวขยายตัวเป็นกลุ่มชนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน มีทั้งชาวชอง ชาวไทยภาคใต้ ชาวจีน ชาวญวน และมีการประกอบอาชีพการประมง ทั้งประมงน้ำลึก ประมงชายฝั่ง และประมงเพาะเลี้ยง จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ที่สำคัญปลานวลจันทร์ทะเลในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วไปในอ่าว ซึ่งจะพบมากในแถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะยังมีวัยอ่อนจะชอบอยู่ในบริเวณน้ำกร่อย เมื่อโตขึ้นจึงออกไปอาศัยอยู่ในทะเล สำหรับประเทศไทยก่อนหน้านี้ได้มีการนำมาเพาะเลี้ยง โดยการจับมาจากบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล ณ สถานีประมงคลองวาฬ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่าราษฎรในพื้นที่ได้นำลูกปลานวลจันทร์ทะเลที่จับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อมาเลี้ยงในบ่อ ซึ่งสภาพน้ำแม้จะมีระดับความเค็มต่ำ แต่ปลานวลจันทร์ทะเลก็เจริญเติบโตได้ และสามารถขายได้ราคาดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นอาชีพ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลจำนวนหนึ่ง ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการศึกษาการเพาะเลี้ยง ตลอดถึงการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลอย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ทั้งการเพาะเลี้ยงบริเวณชายฝั่ง ในบ่อดิน ไปจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับปลาชนิดนี้ จนเป็นที่ยอมรับและต้องการของประชาชนในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นครั้งนี้ที่ประชาชนชุมชนบางสระเก้าสนใจเข้าฝึกอบรมการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลของสำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี โดยการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 7 สิงหาคม 2558