เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ถึงวันต้องแก้วิกฤติน้ำลุ่มเจ้าพระยา

ข่าววันที่ :5 ส.ค. 2558

Share

tmp_20150508102733_1.jpg

           ตลอดเวลาที่ผ่านมาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อว่า “เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ” ของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าวหล่อเลี้ยงคนไทยมาช้านาน และส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ามหาศาล ด้วยมี 2 เขื่อนใหญ่ที่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้ นั่นก็คือเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 ปิดกั้นลำน้ำปิง ที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก แล้วเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507 เขื่อนนี้เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร และถือเป็นเขื่อนโค้งที่สูงเป็นอันดับ 27 ของโลก โดยมีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2506 ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ณ บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วเสร็จในปี 2515 เดิมชื่อ “เขื่อนผาซ่อม” ต่อมาได้รับพระบรมราชา นุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระ นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สันเขื่อนสูง 133.60 เมตร ยาว 810 เมตร กว้าง 12 เมตร หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่เขื่อนทั้ง 2 แห่งกักเก็บได้คือ 22,972 ล้านลูกบาศก์เมตร กับจำนวนประชากรและความต้องการใช้น้ำเมื่อก่อนหน้านี้ ถือว่าสร้างเกินกว่าความต้องการมาก แต่คนในสมัยนั้นก็ยินดีที่จะให้สร้างขึ้นมา เพราะมองเห็นประโยชน์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลาน และประเทศชาติ ประชากรของประเทศไทยเมื่อปี 2508 มีประมาณ 30 ล้านคน เป็นประชากรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา คือ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นคร นายก ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ประมาณ 9 ล้านคน หลังจากนั้นเป็นต้นมาลุ่มเจ้าพระยามีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีมากกว่า 65 ล้านคน คิดเป็นประชากรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ประมาณ 20 ล้านคน ไม่รวมประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวอีกไม่น้อยกว่า 5 ล้าน คน ทำให้การใช้น้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อย่างก้าวกระโดด มีการใช้เทคโนโลยีและระบบชลประทานที่สมบูรณ์ช่วยในการทำนามากขึ้น สามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง จากเดิมที่ทำได้แค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ใกล้จะสิ้นสุดลง เพราะ 50 ปีที่ผ่านมา หลังจากการสร้างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ แล้วเสร็จ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมขึ้นมาน้อยมาก ซึ่งไม่สอด คล้องกับความต้องการใช้ของสังคม ระยะเวลา 50 ปี ที่ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง เพราะใช้น้ำจากเขื่อนที่บรรพ บุรุษสร้างไว้ทั้งสิ้น และด้วยพระบารมีของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างเขื่อนอีก 2 แห่งคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยาได้อีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่ได้เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนทั้ง 2 แห่งดังกล่าวแม้จะมีปริมาณไม่มากเมื่อเทียบกับเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ แต่ก็สร้างความอุดมสมบูรณ์ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ป่าสัก และแควน้อย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถต่อลมหายใจได้อีกระยะหนึ่ง จวบจนวันนี้วันที่ถึงจุดวิกฤติของลุ่มเจ้าพระยา วาระที่ต้องปันน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ของสังคมแต่ละแขนง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าแล้วอนาคตจะเป็นไปแบบใด หากไม่เตรียมการแก้ไขในวันนี้ ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการทวงคืนพื้นที่ป่าเพื่อปลูกป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำก็ควรจะเร่งดำเนินการ เพราะการแก้ไขปัญหาให้ได้ทั้งลุ่มน้ำนั้นจำเป็น จะต้องใช้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ที่อาจจะต้องสูญเสียพื้นที่เพื่อการอื่นไปบ้างเช่นป่าก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ทางตอนบนของป่าต้นน้ำของเขื่อนใหญ่ทั้งสองเขื่อนที่กล่าวมาแล้วก็ถือว่าน้อย มาก ๆ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องของสังคมจำต้องขบ คิดกันแล้วในวันนี้ มิฉะนั้นวันข้างหน้าลูกหลานก็จะไม่มีน้ำใช้อย่างแน่นอน.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 5 สิงหาคม 2558