เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ตรวจเยี่ยมสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี

ข่าววันที่ :27 ก.ค. 2558

Share

tmp_20152707103700_1.jpg

           พลเรือเอกศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ เพื่อศึกษาดูงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับฟังปัญหาด้านการเกษตรจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำข้อมูลกลับไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยมีนายมณเฑียร ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และนายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเพชรบุรี ให้การต้อนรับ เมื่อวันก่อน จังหวัดเพชรบุรี มี 8 อำเภอ ประชากร 474,192 คน มีเนื้อที่ 3,890,711 ไร่ พื้นที่การเกษตร 955,000 ไร่ คิดเป็น 24% ของพื้น ที่ทั้งจังหวัด ส่วนใหญ่ทำนา มีผลผลิตนาปี 277,770 ตันต่อปี นาปรัง 221,919 ตันต่อปี ที่เหลือเป็นพื้นที่ทำไร่ ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และพื้นที่การเกษตร อื่น ๆ เช่น การประมง ผลผลิตด้านการประมง 10,500 ตันต่อปี เป็นกุ้งทะเล ปลาน้ำจืด หอยแครง โดยเฉพาะในอำเภอบ้านแหลม ถือว่าเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ด้านการปศุสัตว์ เลี้ยงโคเนื้อและโคนม สุกร แพะ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่า 56,512 ล้านบาท รายได้ประชากรเฉลี่ย 119,219 บาทต่อคนต่อปี เป็นลำดับที่ 28 ของประเทศ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่เพชรบุรีประมาณ 5.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดจำนวน 16,299 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานด้านสหกรณ์ในจังหวัดเพชรบุรีนั้น ปัจจุบันมีสหกรณ์จำนวน 87 แห่ง มีสหกรณ์ครบทั้ง 7 ประเภท เป็นสหกรณ์การเกษตร 24 แห่ง ประมง 2 แห่ง นิคม 2 แห่ง ร้านสหกรณ์ 1 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 8 แห่ง สหกรณ์บริการ 5 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 45 แห่ง ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่มีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศ มีประชากร 182,000 คนหรือ 50% ของประชากรทั้งจังหวัด เป็นสมาชิกของสหกรณ์ ทุนดำเนินงานสหกรณ์รวมทั้งจังหวัด 16,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การรับฝากเงิน 6,500 ล้านบาท ปล่อยเงินกู้แก่สมาชิก 8,000 ล้านบาท จัดหาสินค้ามาจำหน่าย 500 ล้านบาท ธุรกิจการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร 500 ล้านบาท ธุรกิจแปรรูป 300 ล้านบาท ธุรกิจบริการ 45 ล้านบาท การนี้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์แห่งนี้ดำเนินธุรกิจส่งเสริมเกษตรกรในอำเภอท่ายาง โดยปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ผู้บริโภคที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมาจนเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์ได้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สหกรณ์ยังมีตลาดกลางสินค้าเกษตร เพื่อเป็นศูนย์รวมการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรี มีทั้งพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพใหม่สดจากไร่เกษตรกรนำมาจำหน่ายทั้งขายส่งและขายปลีก นายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ได้ทำหน้าที่ดูแลสมาชิก ตั้งแต่ต้นน้ำ จัดหาพันธุ์พืช หน่อกล้วยที่จะให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกการควบคุมการผลิต ทำแปลง GAP มีการส่งนักวิชาการเกษตรไปดูแลสวนสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะเก็บเกี่ยวและรวบรวมส่งสหกรณ์ จากนั้นนำผลผลิตมาเพิ่มมูลค่าด้วยการคัดแยกเกรด และส่งจำหน่ายตามที่ตลาดต้องการ ทำให้สมาชิกสหกรณ์เล็งเห็นว่าการรวมตัวกันบริหารจัดการผลผลิตในรูปของสหกรณ์ ส่งผลดีต่อตัวเกษตรกรเอง ได้รู้จักการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือกันและกัน การลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรับฟังปัญหาของทางจังหวัดและพื้นที่ เพื่อจะนำข้อมูลไปเสนอต่อสภา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหรืองบประมาณ หรือประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยแก้ไข ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการ เกษตรที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ และประชากรส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมในการดำรงชีพ.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 27 กรกฏาคม 2558