เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว ดูงานศูนย์ศึกษาฯภูพาน

ข่าววันที่ :27 ก.ค. 2558

Share

tmp_20152707103517_1.jpg

           เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิป ไตยประชาชนลาว (NAFRI) จำนวน 34 คน ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ส่งเสริมและสนับสนุนโดย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) บ้านนาคำ ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ของนายละมัย พังแสงสุ และนางบังอร ไชยเสนา สำหรับนายละมัย พังแสงสุ นั้นได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรตัวอย่างของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยมีจุดเด่นคือการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่ 8 ไร่ และใช้ปุ๋ย พืชสด น้ำหมักชีวภาพ และสารธรรมชาติป้องกันและไล่แมลง ในการบริหารจัดการ ต้นพืชที่ทำการเพาะปลูก เพื่อลดต้นทุน การผลิต และมีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ได้รู้ถึงค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตและบริโภคภายในครัวเรือน ตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการมีภูมิคุ้มกัน ภายในพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรรายนี้ได้มีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น เลี้ยงปลานิล กบ และไก่ดำภูพาน ตลอดถึงการปลูกไม้ยืนต้น ปลูกข้าว ปลูกกล้วย ปลูกลิ้นจี่ และพืชสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ เช่น หนอนใต้ใบ เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งเรียนรู้การเพาะขยายพันธ์ุลิ้นจี่ และมะม่วง เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกร ทำให้มีรายได้ประมาณ 253,756 บาทต่อปี และอีกหนึ่งจุดที่คณะได้เข้าเยี่ยมชม และศึกษาเพื่อนำกลับไปขยายผลยัง สปป.ลาว คือ แปลงเกษตรผสมผสานเกษตรกรต้นแบบของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ของนางบังอร ไชยเสนา บ้านน้อยจอมศรี ต.ฮางโฮง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งนางบังอร ไชยเสนา เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่พลิกผันชีวิตจากไม่มีกินสู่มีกินมี ใช้เหลือเก็บเป็นทุนสำรองแก่ครอบครัวที่เกษตรกรจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ภาคอีสานให้ความสนใจและเดินทางไปเยี่ยมชมพร้อมขอแนวทางในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่องในทุกวันนี้ เกษตรกรรายนี้เดิมเป็นผู้ขายแรงงานในเมืองหลวงเช่นผู้คนภาคอีสานทั่วไปเมื่อในอดีต แต่จากการขาดโอกาสทางการศึกษาจึงไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้ในอาชีพการงาน จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดเมืองนอน และแต่งงานกับคนรักร่วมกันทำมาหากิน โดยเช่าที่นาผู้อื่นทำนา จำนวน 10 ไร่ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะต้นทุนการทำนาสูง ขณะที่ข้าวขายไม่ ได้ราคา ก็เลิกล้มการทำนาหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่มีภาคเอกชนส่งเสริมและหน่วยงานภาครัฐสนับสนุน ก็เช่นเดิม คือผลผลิตได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่รายจ่ายด้านต้นทุนการผลิตต้องจ่ายเต็ม ในที่สุดก็ต้องเป็นหนี้ ที่ทำกินซึ่งเช่าผู้อื่นทำก็กำลังจะถูกปฏิเสธไม่ให้ทำ จนต้องไปกราบไหว้วิงวอนเจ้าของที่ดินเพื่ออนุญาตให้ได้ทำกินต่อ พร้อมยื่นเงื่อนไขพิเศษให้กับเจ้าของที่ดินว่า หากทำแล้วไม่มีรายได้มอบให้ก็จะทำนาให้กับเจ้าของที่ดินฟรี ๆ 3 ปีติดต่อกัน และในระหว่างนั้นก็เข้าศึกษาดูงานและอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร และนำแนวทางการจัดการ การบริหาร การเพาะปลูก ตลอดถึงแนวทางการดำรงชีวิต และอาชีพ มาปฏิบัติ ปัจจุบันประสบความสำเร็จ มีที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อเพาะปลูกและอยู่อาศัย ผลผลิตสามารถส่งจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เช่น สปป.ลาว เป็นต้น จนเป็นที่รู้จักของผู้คนโดยทั่วไปใน ขณะนี้ และจากการเดินทางเข้าศึกษาดูงานของคณะจาก สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งนี้ ก็จะเป็นการเอื้อถึงโอกาสของความร่วมมือในการดำเนินงานด้านวิชาการเพื่อการขยายผลสู่ราษฎรร่วมกันของ ไทย และ สปป.ลาวได้เป็นอย่างดี.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 27 กรกฏาคม 2558