เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ชลประทาน-ส่งเสริมการเกษตร ต้องจับมือร่วมฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

ข่าววันที่ :23 ก.ค. 2558

Share

tmp_20152307102022_1.jpg

          วิกฤติภัยแล้งที่ขยายวงไปทั่ว 62 จังหวัดทั่วประเทศในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ส่งผลระบบเศรษฐกิจเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา ล่าสุดนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกสำนักชลประทานเขตลุ่มเจ้าพระยา และเกษตรจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 15 จังหวัดมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน เพื่อสรุปมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พร้อมทั้งสั่งการให้กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการเพาะปลูกและสำรวจพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจนและสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวแล้วแต่มีความเสี่ยง และพื้นที่ที่ชะลอการปลูก เพื่อจะได้นำข้อมูลไปพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่อย่างเร่งด่วนต่อไป ขณะเดียวกัน แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้นนั้น กระทรวงฯ ได้กำหนดไว้ 2 แนวทางคือ 1. การจ้างแรงงานและสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยการปรับปรุงอาคารชลประ ทาน ทั้งช่วงก่อนฝนจะมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และช่วงฝนสิ้นสุดในช่วงหลังเดือนพฤศจิกา ยน โดยกรมชลประทานจะรับผิดชอบดำเนินการ 2. กิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ทดแทนในช่วงที่ต้องชะลอการทำนา แม้ว่าผลสำรวจในเบื้องต้นเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะรอฝนเพื่อการทำนาปี โดยมีประมาณ 3 แสนไร่ที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ๆ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งไปสำรวจความต้องการของเกษตรกรจากนั้นให้นำข้อมูลมาหารือร่วมกับกรมชลประทานว่าสามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอได้หรือไม่อย่างไรก่อนที่ฝนจะมาถึง และหลังจากฝนตกมาแล้ว นั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าเท่านั้น ในระยะยาวกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางไว้ว่า การเปลี่ยนอุปสงค์ด้านการใช้น้ำทางการเกษตร โดยการหันมาเน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือแหล่งน้ำในฟาร์ม หรือการกำหนดเขตกรรมใช้น้ำน้อย การประกอบอาชีพอื่น ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรนำอาคารชลประทานบางประเภทที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งอยู่ประมาณ 3,000 โครงการ กระทรวงฯ จะขอเข้าไปช่วยดูแล โดยเฉพาะการเพิ่มระบบส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าควรให้ดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง ในช่วงที่มีระดับน้ำเกินเก็บกัก ก็จะให้กรมชลประทานเข้าไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถดึงน้ำส่วนเกินมาเป็นประโยชน์ได้หรือไม่ และสุดท้ายคือการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาเอง ที่ยังขาดในเรื่องงบประมาณดำเนินการก็จะเร่งเสนอรัฐบาลพิจารณาโดยเร็วต่อไป และนอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังได้มอบหมายให้กรมชล ประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันจัดทำแผนที่การเพาะปลูกให้สอดคล้องกัน รวมทั้งได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือระดับตำบล อำเภอ ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเอกซเรย์ความต้องการของประชาชนทั้งระยะก่อนฝนตก กับหลังฝนตกเพื่อจะได้นำข้อมูลมาวางแผนในการเลือกทำกิจกรรมการเกษตรให้กับเกษตรกรให้ชัดเจนขึ้น โดยจะมีการเสนอแนวทางมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มเจ้าพระยาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ.“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 23 กรกฏาคม 2558