เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ระดมพลขุดบ่อบาดาลพันแห่ง ดับวิกฤติแล้ง‘ลุ่มน้ำเจ้าพระยา’

ข่าววันที่ :22 ก.ค. 2558

Share

tmp_20152207134606_1.jpg

          นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสถาน การณ์ภัยแล้งที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่นับว่าหนักหน่วงรุนแรงจนถึงระดับวิกฤติ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้องเผชิญกับวิกฤติแล้งระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแหล่งน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนใหญ่ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ต่างเหลือปริมาณน้ำในระดับที่ต่ำมาก ไม่เพียงพอต่อการระบายออกมาเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรได้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบว่า มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 25 ทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก 7.45 ล้านไร่ ต้องประกาศขอให้ชะลอการเพาะปลูก ปรากฏว่า มีเกษตรกรได้เริ่มเพาะปลูกไปแล้วถึง 3.44 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่เสี่ยงประมาณ 8.5 แสนไร่ เพราะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องหามาตรการมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างเร่งด่วน แนวทางสำคัญที่รัฐบาลวางไว้ คือ การหาแหล่งน้ำบาดาล ในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 8.5 แสนไร่ โดยกระทรวงทรัพยากรฯ สามารถสนับสนุนได้จำนวน 880 บ่อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บ่อน้ำสังเกตการณ์จำนวน 380 บ่อที่มีอยู่แล้วและมีน้ำพร้อมใช้ไม่ต้องไปเจาะใหม่ เพียงแต่ยังไม่มีเครื่องปั๊มน้ำ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลส่งปั๊มน้ำที่มีอยู่จำนวน 300 เครื่องลงไปสนับสนุนทันที ส่วนที่เหลืออีก 500 บ่อ เป็นบ่อที่ต้องมีการขุดเจาะใหม่และต้องหาปั๊มน้ำเพิ่มอีก 80 เครื่อง ซึ่งเบื้องต้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบงบประมาณจำนวน 85 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อมีการนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่ จ.เชียงใหม่ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์น้ำในช่วงเวลานี้ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะแม้จะมีฝนตกลงมาบางพื้นที่ แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ จึงขอให้มีการขยายเพิ่มจาก 500 บ่อ เป็น 1,000 บ่อ ด้าน นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การแก้ปัญหาระยะยาว ต้องกลับไปแก้ที่จุดเริ่มต้น คือ การฟื้นฟูป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกคุกคามทำลายอย่างหนักในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา” แนวทางสำคัญแนวทางหนึ่งที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมยึดถือมาโดยตลอด คือ การดำเนินการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่า”โดยพยายามเปลี่ยนราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็นผู้อนุรักษ์ทรัพยากรป่า รวมทั้งการส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลป่าและจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยตนเอง ดังที่ปรากฏเป็นผลให้เป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ ณ ปัจจุบันที่พื้นที่ในโครงการเหล่านี้แม้จะเป็นช่วงแล้งจัดเช่นขณะนี้ในพื้นที่ก็ยังคงมีความชุ่มชื้นปรากฏอย่างเห็นได้ชัด เช่น พื้นที่ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ในพื้นที่ทางภาคเหนือ หลายต่อหลายจังหวัด นับตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ถึงจังหวัดตาก ซึ่งหากวันนี้ไม่มีโครงการเหล่านี้ความแห้งแล้งก็น่าจะทับทวีมากกว่าที่เกิดขึ้นในขณะนี้อย่างแน่นอน ฉะนั้นหากไม่ร่วมมือกันแล้วก็ยากที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ และท้ายที่สุดอาจจะต้องกลับมาพบกับวิกฤติจากภัยแล้งและภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่รุนแรงหนักหน่วงมากกว่าเดิม“
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 22 กรกฏาคม 2558