เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ชุมชนวังหลัง กทม. รวมตัวตั้งสหกรณ์เคหสถาน

ข่าววันที่ :8 ก.ค. 2558

Share

tmp_20150807142026_1.jpg

ชุมชนวังหลัง กทม. รวมตัวตั้งสหกรณ์เคหสถาน | เดลินิวส์
„ย่านวังหลัง เป็นชื่อเรียกพระราชวังที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง พื้นที่วังหลังเป็นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่โรงพยาบาลศิริราชยาวไปจนถึงวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าพระราชวังต่าง ๆ จะสูญหายกลายสภาพไปจนไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว แต่ผู้คนก็ยังคงเรียกพื้นที่บริเวณแห่งนี้จนติดปากว่าวังหลัง ปัจจุบันเป็นแหล่งค้าขายสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งอาหาร เสื้อผ้า เป็นแหล่งชอปปิงที่ได้           รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญย่านฝั่งธนฯแห่งนี้ มีชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่งตั้งอยู่มายาวนานนับร้อยปี รู้จักกันในชื่อชุมชนตรอกวังหลังต้นโพธิ์ ซึ่งชาวบ้านอยู่กันแบบจับจองพื้นที่สร้างบ้านเพิงพักอยู่อาศัยกัน ต่อมาในปี 2510 เกิดเพลิงไหม้ สภาพพื้นที่เริ่มกลายเป็นชุมชนแออัด และคนในชุมชนก็ยังอยู่อาศัยมาจวบจนปัจจุบัน และได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และเจรจากับกรมธนารักษ์ เพื่อขอเช่าที่ดินขนาด 1 ไร่ 50 ตารางวา ในลักษณะนิติบุคคลในรูปสหกรณ์ ต่อมาสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้คำแนะนำและจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ประเภทบริการ และตั้งชื่อว่า “สหกรณ์เคห สถานตรอกวังหลังต้นโพธิ์ จำกัด” เมื่อปี 2554 เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชนที่เข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ และปี 2555 ได้มีการทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ 30 ปี และได้งบสนับสนุนตามเงื่อนไขต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงพื้นที่สร้างบ้านที่อยู่อาศัย โดยรูปแบบบ้านเป็นสถาปัตยกรรมแบบสมัยเก่า เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่วังเก่า และเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด จำนวน 34 หลัง เป็นบ้านของสมาชิก 33 หลัง และเป็นที่ทำการสหกรณ์ 1 หลัง ปัจจุบันสมาชิกได้เข้าอยู่จนครบทุกหลังคาเรือนแล้ว ประมาณร้อยกว่าคน นางรัชนีพร พึงประสพ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 เปิดเผยว่า สหกรณ์เคหสถานตรอกวังหลังต้นโพธิ์ จำกัด เป็นตัวอย่างของการนำวิธีการสหกรณ์มาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับคนที่ด้อยโอกาสเรื่องที่อยู่อาศัยและมีรายได้น้อย หลักการสหกรณ์เน้นให้คนรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้คนในชุมชนแห่งนี้ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและมั่นคง สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครอบครัวได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้า เด็ก ๆ ในชุมชนได้อาศัยอยู่ใกล้กับสถานศึกษา ชาวบ้านมีที่ทำมาหากิน เพราะอยู่ย่านแหล่งค้าขายใจกลางเมือง สหกรณ์มีส่วนสำคัญในการดูแลบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน ทำหน้าที่เก็บเงินรายเดือนจากสมาชิกครัวเรือนละ 1,600-2,000 บาท เพื่อส่งชำระค่าเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์และผ่อนส่งชำระค่าสร้างบ้านรวมถึงเป็นตัวหลักในการจัดกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก จัดสวัสดิการดูแลชาวบ้านตั้งแต่เกิด เจ็บป่วย และเสียชีวิต ซึ่งในชุมชนมีพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านไว้จัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ วันเด็ก วันสงกรานต์ และบริการตรวจสุขภาพ ปัจจุบันสหกรณ์ได้ระดมเงินออมจากสมาชิก เป็นหุ้นจำนวน 147,900 บาท และเงินออมเพื่อที่อยู่อาศัยและสวัสดิการชุมชน 11,010 บาท การวางแผนต่อไปของชุมชนก็จะยึดแนวทางของสหกรณ์เป็นหลัก ตามอุดมการณ์และหลักการสหกรณ์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และนำรายได้กลับเข้ามาสู่ชุมชนให้มากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้คนได้มาเดินชมสภาพแวดล้อมของชุมชนและความสวยงามของบ้านที่มีสถาปัตยกรรมอันสวยงาม โดยทุกครอบครัวจะใช้พื้นที่หน้าบ้านของตัวเองค้าขาย เช่น ร้านหอยทอด ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ส้มตำ ร้านขายเสื้อผ้า ขายเครื่องประดับตกแต่ง ของใช้ ร้านกาแฟและขนมหวาน โดยยังคงรักษาสภาพพื้นที่ไว้แบบอนุรักษ์ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 8 กรกฏาคม 2558