เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เพลี้ย-ไร-โคนหัวเน่า มันมากับฝนน้อย

ข่าววันที่ :25 มิ.ย. 2558

Share

tmp_20152506121846_1.jpg

          จากสภาพอากาศที่แปรปรวน กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนชาวไร่มันสำปะหลังให้ระวัง 3 โรคสำคัญ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง, ไรมันสำปะหลัง และโรคโคนเน่าหัวเน่า

          นายประสงค์ ประไพตระกูล ผอ.กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า เนื่องจากภาวะปกติ เพลี้ยแป้ง และไรมันสำปะหลัง จะระบาดได้ดีกว่าในช่วงต้นฤดูฝน หรือฝนทิ้งช่วงอยู่แล้ว เมื่อปีนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มฝนจะน้อยกว่าปกติ ยิ่งจะทำให้เพลี้ยแป้งและไรระบาดได้มากกว่าเดิม เพราะปีนี้ภาวะฝนทิ้งช่วง หรือแล้งฝนจะยาวนานกว่าปกติ ยิ่งเอื้อให้เพลี้ยแป้งและไรมีระยะเวลาขยายพันธุ์ได้มากขึ้น

          เพื่อเป็นการป้องกัน ผอ.กองส่งเสริมการอารักขาพืชฯ แนะว่า ก่อนจะลงปลูกมันสำปะหลังในช่วงนี้ ควรไถตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของเพลี้ย และแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารไทอะมีโทแซม 25% ดับบลิวจี หรืออิมิดาโคล-พริด 70% ดับบลิวจี หรือไดโนทีฟูแรน 10% ดับบลิวจี ในอัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และถ้าปลูกไปแล้ว ควรสำรวจแปลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ถ้าพบเพลี้ยแป้งให้เด็ดยอดเผาทำลาย

          ส่วนการกำจัดไรให้หลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงนี้ แต่ถ้าปลูกไปแล้วให้หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบไรที่ใบมันสำปะหลัง ให้เก็บไปเผาทำลายนอกแปลง ถ้าการระบาดมีมากให้ใช้สารเคมีอามีทาซ 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเฉพาะบริเวณที่มีไรทำลาย และไม่ควรพ่นซ้ำเกิน 2 ครั้ง

          สำหรับโรคโคนหัวเน่า นายประสงค์ บอกว่า เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอราที่อยู่ในดินแพร่พันธุ์ได้ดีในพื้นที่มีความชื้นสูง อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าว ตรงกับสภาพอากาศในช่วงนี้ และบางพื้นที่มีฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่เป็นดินดาน ระบายน้ำไม่ดี มักจะเกิดการท่วมขัง เชื้อราในดินจะเติบโตเข้าทำลายโคนและหัวให้เน่าได้ง่าย

          วิธีการจัดการให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหว่านในช่วงเตรียมดิน เมื่อปลูกไปแล้ว ถ้ามีฝนตกชุกให้สำรวจแปลงทุกวัน หากพบโรคให้ขุดถอนต้นเป็นโรคไปเผาทำลาย บริเวณโดยรอบ 1 เมตร ให้หว่านปูนขาวหรือเชื้อราไตโคเดอร์มารอบโคนต้นที่ขุดออก แต่ถ้ามีการระบาดรุนแรงให้ใช้สารฟอสอีทิลอะลูมิเนียม อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดต้นละ 300 ซีซี หรือฉีดพ่นอัตรา 150 กรัมต่อไร่ และพื้นที่ปลูกแปลงไหนเคยเสียหายจากโรคนี้ไปมากกว่า 50% ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน จะคุ้มกว่าปลูกมันฯ ที่มีโอกาสจะเสียหายมากกว่าเดิม

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 มิ.ย. 58