เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง เมื่อน้ำต้นทุนเหลือน้อย

ข่าววันที่ :25 มิ.ย. 2558

Share

tmp_20152506120415_1.jpg

          ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรหลายจังหวัดได้ถูกภัยแล้งคุกคามหนักขึ้น

          ขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรหลายจังหวัดได้ถูกภัยแล้งคุกคามหนักขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมวางแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

          นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำต้นทุนมีน้อยและค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนตกล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น และมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้ 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำที่ใช้ได้ ประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การ423ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้794ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำใช้การ92ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การ91ล้าน ลบ.ม. หากฝนยังไม่ตกเลยจะสามารถใช้น้ำได้อีก 40 วัน กรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดอย่างรัดกุม จากเดิมที่สามารถปล่อยน้ำได้ 60 ล้าน ลบ.ม./วัน ลดเหลือเพียงวันละ 30-35 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะน้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค และน้ำที่ใช้ในการรักษาระบบนิเวศ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวน 2.84 ล้านไร่ใน22จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

          กระทรวงเกษตรฯประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว ประมาณ 6 ล้านไร่ แบ่งเป็น นาในเขตชลประทาน 4 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่ ให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ข้าวที่ปลูกได้รับผลกระทบแล้งหรือฝนทิ้งช่วง จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฝนจะตกลงมาระดับปกติอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งยังสามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้โดยไม่สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูก

          ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรองรับอยู่แล้ว13 ฐานได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และอุบลราชธานี หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหมาะสมจะมีการขึ้นบินทำฝนหลวงอย่างเข้มข้น เพื่อเติมน้ำในเขื่อนและสำรองน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำ1,400ล้าน ลบ.ม. ที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

          นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาการเตรียมแผนและโครงการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีที่มีปัญหาฝนทิ้งช่วง สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว2.84ล้านไร่ อาจมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบแห้งสลับเปียก โดยอาจปล่อยน้ำวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน ส่วนพื้นที่ 6 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูก จะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ปุ๋ยพืชสด หรือพืชที่ใช้น้ำน้อยอายุเก็บเกี่ยวสั้น เป็นต้น ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนและเสนอโครงการฯ เข้ามา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจลุกลามกว้างขึ้น

          เนื่องจากปริมาณน้ำมีน้อย ประกอบกับฝนตกในลักษณะไม่กระจายตัวมากนักและตกเฉพาะแห่ง ตกไม่สม่ำเสมอ และอาจมีปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนานไปจนถึงเดือนกรกฎาคม เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาควรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีไว้ก่อน เพราะหากหว่านเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว แต่เกิดปัญหาภัยแล้งได้รับความเสียหาย ครั้งถัดไปต้องลงทุนใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

          ถ้าเกษตรกรเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ได้ ซึ่งพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ ยังใช้ศูนย์เรียนรู้ประจำตำบลทั้ง882ศูนย์ เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการความรู้ ประสานงานและแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกษตรกรได้รับบริการรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มิ.ย. 58