เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ปลูกพริกไทยอินทรีย์ เก็บผลผลิตยาว 20 ปี

ข่าววันที่ :18 มิ.ย. 2558

Share

tmp_20151806131114_1.jpg

         จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญ โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ แต่ในระยะหลังมีเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สาเหตุมาจากปัญหาดินเสื่อมโทรมอันเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ผลผลิตพริกไทยที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เกษตรกรที่ปลูกพริกไทยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีส่วนใหญ่ประสบปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมีต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ดินขาดอินทรียวัตถุ ดินแข็งกระด้าง ประกอบกับจันทบุรีเป็นพื้นที่ติดทะเลทำให้มีปัญหาเรื่องดินกรด หากไม่ได้รับการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกวิธีจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เกษตรกรหลายรายได้ผันตัวเองจากการปลูกพริกไทยไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ได้เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรสวนพริกไทยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยใช้ปูนโดโลไมท์ปรับสภาพดินกรดให้เป็นกลาง หลังจากนั้นให้ใช้ปุ๋ยหมักผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ต้นพริกไทยปรับสภาพฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่ดีขึ้น และสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตในด้านการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ นายปรีชา โหนแหยม ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 2 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า พื้นที่ตำบลวังโตนด อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบปัญหาต้นพริกไทยเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดย นายภิรมย์ แก้ววิเชียร หมอดินอาสาประจำตำบลวังโตนด ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกพริกไทย เล่าว่า สมัยก่อนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปลูกพริกไทยโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีปริมาณมากและต่อเนื่อง ปรากฏว่าลงทุนแต่ละค้างจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4-5 ปีก็ต้องโค่นปลูกใหม่ เพราะต้นจะโทรมและให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากคุณภาพดินไม่ดี ดินแข็งและเป็นกรด ผลผลิตที่ได้จะดีเพียงปีที่ 1-3 หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลงเรื่อย ๆ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจึงต้องปลูกใหม่ทดแทน พอมาช่วงตนเข้ามาปลูกต่อก็ยังคงใช้ปุ๋ยเคมีก็ประสบปัญหาเดิม ๆ และคิดว่าถ้าขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปคงไปไม่รอด จนกระทั่งได้มาเป็นหมอดินอาสาประจำตำบลวังโตนด ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ก็นับเป็นจุดหักเหของการปลูกพริกไทยจากเคมีมาสู่อินทรีย์ โดยเริ่มทำเป็นแปลง ๆ ไป เพื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ยังใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มจากลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีแล้วใช้อินทรีย์ควบคู่กันไปจนกระทั่งเลิกเคมีในที่สุด ซึ่งความแตกต่างในปีแรกยังไม่เด่นชัด แต่พอเข้าสู่ปีที่ 2-3 จะเห็นผลชัดเจน คือดินมีความสมบูรณ์ขึ้น จากดินแข็งกระด้างก็ร่วนซุย มีจุลินทรีย์ ไส้เดือนในดิน ต้นพริกไทยที่ใบเหลืองก็กลับมาเขียวเข้ม และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการพิสูจน์ด้วยตนเอง พบว่าจากต้นพริกไทยค้างหนึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เกิน 5 ปี ก็มีอายุเพิ่มขึ้นเป็น 18-19 ปี ยังให้ผลผลิตต่อเนื่อง พื้นที่ปลูกพริกไทยของตนมีทั้งหมด 12 ไร่ แบ่งเป็นพริกไทยพันธุ์ซีลอน และพันธุ์มาเลเซีย ซึ่งแต่เดิมได้ผลผลิตรวม 3 ตัน แต่พอมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ตัน ที่สำคัญคือต้นทุนการผลิตลดลงจากเดิมกว่า 40% เนื่องจากปุ๋ยเคมีตันหนึ่งประมาณ 13,000 บาท ในแต่ละปีจะต้องมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์อยู่ที่ตันละ 1,500-2,000 บาท ใส่อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ก็จะมีต้นทุนอยู่ที่ 6,000 บาท นอกจากเรื่องผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนลดลงแล้ว เกษตรกรรายนี้ยังมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกนอกฤดูหรือออกตรงกับช่วงที่มีราคาดี อย่างน้อยจะได้ราคาจำหน่ายพริกไทยอ่อน 200 บาท/กก. หรือถ้าแม้ว่าในฤดูกาลผลิตนั้นราคาตกต่ำก็ยังสามารถปล่อยให้พริกไทยแก่และขายเป็นพริกไทยดำที่ได้ราคาสูงขึ้นได้ ยืนยันเลยว่าการปลูกพริกไทยอินทรีย์อยู่ได้แน่และยั่งยืนกว่าเคมี ที่สำคัญพริกไทยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะปลูกปีเดียวก็สามารถเก็บผลผลิต ขายคืนทุน แถมได้กำไร 30% พอปีที่สองรับกำไรเต็ม ๆอีกทั้งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานนับ 20 ปี.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://dailynews.co.th/ วันที่ 18 มิถุนายน 2558