เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

รัฐสนับสนุนพัฒนาเครือข่ายSMEภาคเกษตร

ข่าววันที่ :11 มิ.ย. 2558

Share

tmp_20151106101742_1.jpg

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME นับว่ามีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจาก SME คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการจ้างงานโดยรวมสูงถึงร้อยละ 76 ของการจ้างงานรวม รัฐบาลจึงมีนโยบายผลักดันให้การส่งเสริม SME เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ให้มีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และให้เพิ่ม SME ภาคการเกษตรขึ้นอีก 1 ประเภท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิด SME ภาคการเกษตร โดยการจัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขึ้น เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย SME ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจของผู้ประกอบการในลักษณะเครือข่าย SME สนับสนุนและต่อ ยอดการดำเนินธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย โดยได้จัดทำโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด จำนวน 10 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 59,260,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2559 นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมปศุสัตว์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำหรับโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบมี 6 โครงการ ประกอบด้วย 1. เครือข่ายการผลิตการตลาดผู้ประกอบการ แปรรูปสินค้าเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคกลาง จำนวน 13 จังหวัด 2. เครือข่ายการผลิตการตลาดผู้ประกอบการ แปรรูปสินค้าเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 16 จังหวัด 3. เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปลำไย จำนวน 2 จังหวัด 4. เครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ภาคเกษตรรุ่นใหม่ จำนวน 29 จังหวัด 5. เครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคตะวันออก จำนวน 4 จังหวัด 6. เครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคตะวันตก จำนวน 6 จังหวัด ซึ่งทั้ง 6 โครงการนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานร่วมดำเนินการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่าย คาดว่าผู้ประกอบการ SME ในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น สามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 11 มิถุนายน 2558