เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

พรุแฆแฆ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันนี้อุดมสมบูรณ์

ข่าววันที่ :11 มิ.ย. 2558

Share

tmp_20151106101409_1.jpg

เมื่อวันพฤหัสบดีที่4มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วย หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงานกปร.นายชูชาติ ฉุยกลม ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริสำนักราชเลขาธิการ นายจรูญ อิ่มเอิบสิน ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวังนายทวีเต็มญารศิลป์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมชลประทาน นางสาวอุศนีย์ธูปทอง ผู้อำนวยการสำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 4 สำนักงานกปร. และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุแฆแฆซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม และมีน้ำท่วมขังเกือบทั้งปี ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ สำหรับโครงการนี้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุแฆแฆบนเนื้อที่ 11,000 ไร่โดยขุดคลองเพื่อระบายน้ำออกจากพรุในช่วงฤดูฝนใช้เป็นคลองเก็บกักน้ำจืด เพื่อให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรและใช้อุปโภคบริโภค ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สนองพระราชดำริโดยการพัฒนาพื้นที่ระบบระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อ สร้างระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำและท่อผันน้ำจากแม่น้ำสายบุรี ก่อสร้างระบบส่งน้ำ ประกอบด้วย โรงสูบย่อยจากคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำพรุแฆแฆตะวันออก จำนวน 27 แห่ง คูส่งน้ำจากโรงสูบน้ำย่อย รวม 34.235 กิโลเมตร พร้อมกันนี้ได้มีการส่งเสริมอาชีพการเกษตรในเขตพื้นที่โครงการควบคู่กันไปด้วย โดยปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่พรุ มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่พรุ ให้สามารถทำการเกษตรได้ พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชได้แก่ การปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ข้าวพันธุ์หอมสุพรรณ และข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุง มีเกษตรกรจำนวน 275 ราย ในพื้นที่ 526 ไร่ เข้าร่วมโครงการ และได้รับผลผลิตค่อนข้างสมบูรณ์ คือ 560–580 กิโลกรัม/ไร่ โดยพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตมากสุด คือ พันธุ์ข้าวเฉี้ยงพัทลุง ประมาณ 580 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ /พืชผัก เช่นข้าวโพด ถั่วเขียว บวบเหลี่ยม ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา พริกหยวก และแตงโม มีเกษตรกร 1,285 รายเข้าร่วมโครงการ มีพื้นที่ 2,253 ไร่ที่ปลูกพืชเหล่านี้ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกไม้ผล อาทิ กระท้อน มะพร้าวน้ำหอมขนุน มังคุด และเงาะ มีเกษตรกร 63 ราย ในพื้นที่ 157 ไร่ร่วมโครงการ ด้านปศุสัตว์ มีการส่งเสริมให้ราษฎรเลี้ยงแพะ รวม 154 ตัว เกษตรกร 134 รายเลี้ยงเป็ดเทศ 1,840 ตัว เกษตรกร184 ราย เลี้ยงไก่พื้นเมือง 1,380 ตัว เกษตรกร 138 ราย และส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ได้แก่ หญ้าและพืชตระกูลถั่วอีก 41 ไร่เพื่อรองรับงานด้านการเลี้ยงสัตว์ของพื้นที่ และได้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้การแปรรูปและการถนอมผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกร และผู้นำเกษตรกร ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการขยายเขตไฟฟ้าและจัดหารถฟาร์มแทรกเตอร์ และเครื่องสีข้าวพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2547 ที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องสีข้าวดังกล่าวสามารถสีข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้องในอัตราชั่วโมงละ 5 กิโลกรัม สีเป็นข้าวสารในอัตราชั่วโมงละ 3.5 กิโลกรัม นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งของการพัฒนาพื้นที่พรุ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และสามารถนำมาเป็นแม่แบบในการดำเนินการในพื้นที่ป่าพรุ อื่น ๆ ต่อไปได้เป็นอย่างดี.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 11 มิถุนายน 2558