เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง การตลาดบนโซเชียล ชูคอนเทนต์เด็ดดักคนไทย



tmp_20171910114951_1.jpg


          เรื่อง | รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

          กันตาร์ ทีเอ็นเอส ได้ทำการสำรวจกับผู้บริโภคกว่า 7 หมื่นคน จาก 56 ประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกจาก 104 กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาของโครงการคอนเนคเต็ด ไลฟ์ 2560 การวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาเรื่องความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์จาก 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ เทคโนโลยี คอนเทนต์ ข้อมูล และอี-คอมเมิร์ซ

          อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กันตาร์ อินไซท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยภายใต้โครงการ "คอนเนคเต็ด ไลฟ์" โดยบริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส พบว่าคนไทยมีทัศนคติเชิงบวกอย่างมากกับการเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ และยังไม่ตระหนักถึงผลที่ตามมา หรือสิ่งที่ต้องแลกกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่แชร์ออกไปบนโลกออนไลน์ ในขณะที่ ประเทศอื่นๆ เริ่มไม่ไว้วางใจและมีข้อกังขาเกี่ยวกับการใช้งานข้อมูลส่วนตัวของตนโดยบริษัทต่างๆ บ้างแล้ว

          ทั้งนี้ จากผลสำรวจมีเพียง 20% ของผู้บริโภคไทยที่กังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวหรือสิ่งที่แชร์ออกไปบนโลกโซเชียลที่แบรนด์ต่างๆ ได้ไป ในขณะที่ทั่วโลกแสดงความกังวลถึง 40% โดยมีประเทศออสเตรเลียที่แสดงความกังวลสูงถึง 56%

          นอกจากนี้ มีเพียง 22% ของผู้บริโภคไทยที่ต่อต้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

          ที่มอนิเตอร์ หรือติดตามกิจกรรม ของพวกเขาบนโลกออนไลน์หรือ โซเชียลมีเดีย ถ้าสิ่งเหล่านั้นทำให้ชีวิตของพวกเขาสะดวกสบายใจ เทียบกับประเทศเกาหลี 56% และนิวซีแลนด์ 62% ที่ไม่เห็นด้วยกับเครื่องมือติดตามหรืออุปกรณ์ดังกล่าว

          ในยุคของ "ข่าวปลอม" นี้ 40% ของผู้บริโภคไทยเชื่อถือข้อมูลที่ได้รับจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากประเทศอื่นๆ ถึง 35% และสูงกว่าตลาดอื่นๆ ที่มี การสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ มายาวนานกว่า เช่น มากกว่าญี่ปุ่น 18% และมากกว่าเกาหลี 17%

          สำหรับผู้บริโภคไทยแล้ว โซเชียล มีเดียยังคงเป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือในการรับข้อความจากแบรนด์ โดยทั่วไปยอมรับว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแบรนด์เหล่านั้นแสดงออกถึงความเข้าใจ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของไทยซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ

          อย่างไรก็ดี ทัศนคติของผู้บริโภคที่เห็นด้วยนี้ ได้สะท้อนถึงความรู้สึกของคนไทยเกี่ยวกับแบรนด์ พบว่าผู้บริโภคจำนวน 39% เชื่อมั่นในแบรนด์ใหญ่ระดับโลก

          ขณะที่ข้อมูลระหว่างตลาดที่เกิดใหม่และตลาดพัฒนาแล้วในเอเชีย ระดับความเชื่อมั่นในแบรนด์ของ กลุ่มนี้มีความแตกต่างเป็นอย่างมาก ในประเทศเวียดนามและเมียนมา ผู้บริโภค 54% ให้ความไว้วางใจกับแบรนด์ใหญ่ระดับโลก โดยความ เชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำอย่างเห็นได้ชัดในตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งเห็นได้จากผู้บริโภคออสเตรเลียเพียง 19% และนิวซีแลนด์เพียง 21% ที่ให้ความเชื่อใจกับแบรนด์เหล่านั้น

          ไมเคิล นิโคลัส โกลบอล ลีด คอนเนคเต็ด โซลูชั่นส์ บริษัท กันตาร์ ทีเอ็นเอส กล่าวว่า ความไว้วางใจเป็นสิ่งเปราะบาง ปัจจุบันแบรนด์ในตลาดเกิดใหม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยที่จะใส่ใจคือ แบรนด์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างและคงไว้ซึ่งความไว้วางใจในแบรนด์ นั่นหมายถึงการทำความเข้าใจแรงจูงใจของลูกค้า จังหวะที่เหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การเห็นค่าในเวลาของลูกค้า และความโปร่งใสเกี่ยวกับวิธีการและช่วงเวลาที่รวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า

          เหนือสิ่งอื่นใด ลูกค้าต้องมาเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดมากมายหลงลืมไปแล้ว


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 19 ตุลาคม 2560