เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง สวนส้มโออินทรีย์



tmp_20172302140019_1.jpg


          นครปฐม ถือได้ว่าเป็นดินแดนเลื่องชื่อเรื่องการปลูกส้มโอมากที่สุดแห่งหนึ่ง สมดั่งคำขวัญที่ว่า "ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย" แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมปลูกในระบบเคมี ขณะเดียวกันยังมีเกษตรกรบางคนที่เล็งเห็น และตระหนักถึงความสำคัญต่อระบบสุขภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงหันมาทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์กันเพิ่มมากขึ้น

          ลุงอุบล การะเวก หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์หอมเกร็ด เครือข่ายสามพรานโมเดล เจ้าของสวนส้มโออินทรีย์ หนึ่งเดียวในพื้นที่ ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม เล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่บ้านทำสวนส้มโอมาตั้งแต่ยุคของคุณพ่อ ใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงส้มโอ ต่อมาปี 2552 หลังจากเออรี่รีไทร์จากอาชีพรับราชการ ลุงอุบลกลับมาสานต่ออาชีพทำสวนส้มโอจากพ่อ ด้วยเหตุที่ไม่ชอบสารเคมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงค่อย ๆ ปรับลดปริมาณปุ๋ยเคมีลง หันมาศึกษาเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชนิดต่าง ๆ เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี จนเมื่อได้มาเจอกับ มูลนิธิสังคมสุขใจ ที่ขับเคลื่อน โครงการสามพรานโมเดล ทำให้ได้รับองค์ความรู้ในเรื่องมาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์แบบครบวงจร อีกทั้งยังแนะนำช่องทางการตลาดให้อีกด้วย

          พื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ปลูกส้มโอสองสายพันธุ์ คือพันธุ์ทองดีและขาวน้ำผึ้ง แซมด้วยกล้วยรวมทั้งมะนาว เพื่อให้มีผลผลิตขายได้ทั้งปี ลุงอุบลบอกว่า ช่วงแรกที่ลงกิ่งตอนต้องใช้ปุ๋ยเคมีประคองให้ต้นแตกกิ่งอ่อนประมาณ 5-6 เดือนจนต้นเป็นพุ่มจึงหยุดใช้ปุ๋ยเคมี จากนั้นหันมาใช้น้ำหมักมูลสุกรคอยรดโคนต้น เพราะน้ำหมักมีธาตุอาหารของดินครบถ้วน คือ NPK พอ ๆ กับปุ๋ยเคมีที่โฆษณากัน นอกจากนี้จะช่วยปรับสภาพให้ดินเป็นกรดเป็นด่างดีขึ้น

          ข้อดีของการทำสวนส้มโอระบบอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนได้ราว 80- 90% ต้นทุนเราแค่ซื้อมูลสัตว์ (สุกร) เพื่อมาหมักทำปุ๋ยคอก ส่วนสมุนไพรที่ทำน้ำหมักชีวภาพต่าง ๆ ราคาไม่สูงนัก นอกจากนี้มีค่าน้ำมันสำหรับเครื่องตัดหญ้า ค่าไฟและอื่น ๆ บ้างเท่าที่จำเป็น ส่วนเงินที่เหลือนั่น คือ กำไร

          น้ำสกัดจากมูลสุกร สารสกัดจากสะเดา ไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอร์เรีย สามารถทำได้เอง เช่นน้ำหมักมูลสุกร ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากเลย โดยใช้มูลสุกรแห้ง 1 กก.ต่อน้ำ 7 ลิตรหมักทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน แล้วตักตะกอนขึ้นมาเก็บไปใส่โคนต้นส้มโอต่อ หลังจากนั้นทิ้งน้ำหมักไว้ 1 เดือนเพื่อให้หมดก๊าซ จากนั้นนำไปผสมน้ำ 20 ลิตรเพื่อใช้รดโคนต้น 15 วัน รดครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้สารชีวภาพฉีดป้องกันเพลี้ยไฟแดง ซึ่งผสมรวมกันกับน้ำหมักมูลสุกรฉีดพ่นเพื่อประหยัดแรงงาน

          การทำเชื้อราไตรโครเดอร์มา เพื่อใช้ป้องกันรากเน่าโคนเน่า ทำได้ไม่ยาก โดยนำมาเพาะเชื้อเอง  ให้อาหารเป็นรำข้าว จากเชื้อราเพียงน้อยนิดเมื่อได้รำข้าวจะแพร่กระจายไปได้เร็ว นำมามาผสมน้ำฉีดจะฉีดก่อนเข้าช่วงหน้าฝน ผสมกับน้ำมูลสุกรเช่นกันรดไปทีเดียว

          สารชีวภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้แมลงตาย แต่จะทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่คุมได้อยู่คือเพลี้ยไฟ ไรแดง สวนที่ใช้เคมี บางครั้งใช้ยาแล้วยังเอาไม่อยู่ ต้องยอมให้เพลี้ยไฟ ลงทั้งสวน ส่วนปัญหาโรคหนอนชอนใบใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ที่สำคัญการเลือกใช้ธรรมชาติมาดูแลต้นส้มโอ ตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้อายุของต้นยืนยาว

          ลุงอุบลยังแจกแจง คุณลักษณะพิเศษของส้มโอที่ผลผลิตระบบอินทรีย์ให้ฟังว่า เนื้อจะแห้งไม่ฉ่ำน้ำ แม้จะเก็บไว้หลายวัน ส่วนความหวานนั้นอาจจะน้อยกว่าเคมี แต่ไม่ต่างกันมากหวานแบบธรรมชาติ ทั้งนี้ส้มโอที่ใช้เคมีก่อนเก็บจะใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวาน เท่ากับว่ากินความหวานจากปุ๋ยเคมีเข้าไป

          ส่วนราคาขายพ่อค้าทั่วไปรับซื้อเท่าเคมี คือพันธุ์ทองดีราคาหน้าสวนลูกละ 40 บาท ขาวน้ำผึ้ง 100-120 บาท แต่ถ้าส่งขายแห้งอาหารของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดล พันธุ์ทองดี ลูกละ 90 บาท ขาวน้ำผึ้งลูกละ 150 บาท โดยที่ทางโรงแรมให้เรากำหนดราคาเองตามความเหมาะสมที่ทั้งสองฝ่ายรับได้

          ปัจจุบัน สวนของลุงอุบล มีพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและพันธุ์ทองดีเป็นหลัก จำนวน 300 ต้น (อายุต้น 5 ปี) ให้ผลผลิตแล้วกว่า 20 ต้น ช่วงปีแรกอาจจะให้ลูกได้ไม่เยอะ แต่เมื่อต้นโตเต็มที่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง จะให้ผลผลิตประมาณ 50-60 ลูกต่อต้น/ปี ส่วน พันธุ์ทองดี จะได้ประมาณ 80-100 ลูกต่อต้น/ปี ซึ่งปกติส้มโอจะออกลูกครั้งแรกตอนอายุประมาณ 6 ปี และถ้าไม่มีปัญหาเรื่องรากเน่าโคนเน่าสามารถให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 20-30 ปีเลยทีเดียว

          สำหรับผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้ เคล็ดลับความสำเร็จการทำสวนส้มโออินทรีย์ สามารถสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอุบล การะเวก โทร. 08-9134-8499 หรือเฟซบุ๊ก สามพรานโมเดล.

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 ก.พ. 2560