เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ก.ล.ต.กรุยทางรับมือ ฟินเทค แก้เกณฑ์-วางยุทธศาสตร์ตลาดทุน




          "ทิพยสุดา ถาวรามร" รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีที่เทคโนโลยีได้มาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดทุนไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงตอบสนองความต้องการลูกค้ามีทางเลือกลงทุนมากขึ้นพร้อม ๆ กับต้นทุนที่ต่ำลง

          ก.ล.ต.จึงเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดรับกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) มากขึ้น โดยเสนอกระทรวงการคลังให้แก้กฎหมายในหลายข้อ อาทิ การเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) สามารถซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดได้ ภายใต้อำนาจการยินยอมของ ก.ล.ต. ซึ่งต่างจากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้มีอำนาจให้คำยินยอมในเรื่องนี้

          การแก้ไขข้อจำกัดในการส่งคำสั่งการซื้อขาย (ออร์เดอร์) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บังคับว่าต้องเป็นโบรกเกอร์เท่านั้น  ทำให้ บล. ที่ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ (ซับโบรกเกอร์) หรือ ผู้ประกอบการใหม่ เช่น ฟินเทค ไม่สามารถดำเนินการส่งออร์เดอร์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ จึงเสนอให้แก้ข้อจำกัดดังกล่าว

          รวมถึงการแก้กฎหมายการเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องแก้ไขบทสันนิษฐานเพื่อเปิดช่องให้มีผู้อื่นเข้ามารับหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์รายใหม่ ๆ จากปัจจุบันที่มีแต่ ตลท. ทำผู้เดียวเท่านั้น

          รวมทั้งยังมีแนวคิดเสนอให้ช่วยผ่อนเกณฑ์การขอใบอนุญาตจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้ง่ายขึ้น โดยจะขอให้แก้ไขคุณสมบัติการจัดตั้งให้มี บล.เพียง 5 ราย จากเดิมที่กำหนดว่าการจัดตั้งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 15 ราย รวมถึงการแก้ไขเกณฑ์การขอออกใบอนุญาตแบบง่าย เพื่อการทดลองทำธุรกิจของกลุ่ม sandbox (ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินแบบใหม่) ด้วย

          การปรับตัวและแผนงานทั้งหมดนี้ จะสอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562) ของ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและผลักดันให้ภาคธุรกิจใช้โอกาสจากเทคโนโลยี ด้วยการกำหนดแผนงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ทำข้อมูลตลาดทุนให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ หรือนำไปต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว อาทิ หนังสือชี้ชวนที่เครื่องอ่านได้หรือการเชื่อมอินเตอร์เฟส 2) เปิดพื้นที่ให้มีที่ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการ รายเดิมและรายใหม่ อาทิ โครงการ FinTech Challenge Program และสนามทดลอง (regulatory sandbox)

          3) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยลดต้นทุนทั้งระบบ เช่น ศูนย์ข้อมูลตัวตนลูกค้า (KYC) และการใช้บล็อกเชนในการซื้อขายหลักทรัพย์ 4) ใช้เทคโนโลยีช่วยในการกำกับดูแล ด้วยการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและระบบงานดิจิทัล และ 5) รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยมาตรฐานตลาดทุนและการซ้อมแผนฉุกเฉินในวงกว้าง

          พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้ตั้ง 2 ฝ่ายใหม่ ได้แก่ 1.ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน และ 2.ฝ่ายจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดทุน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

          ส่วนการผ่อนคลายเกณฑ์เปิดสนามทดลองธุรกิจฟินเทคน่าจะเริ่มในช่วงไตรมาส 2/2560 ซึ่งมีบริษัทสนใจร่วมกว่า 20 ราย บริษัทที่เข้าสมัครจะได้รับยกเว้นใบอนุญาต หรือได้ใบอนุญาตแบบง่าย ซึ่งกำหนดขอบเขตและระยะเวลาที่ใช้ทดสอบนวัตกรรมประมาณ 12-18 เดือน หากผ่านจุดทดสอบ ก็จะไปถึงการให้ใบอนุญาตจริง

          นับเป็นความท้าทายใหม่ในวงการตลาดทุน ซึ่งโบรกเกอร์รายเก่าก็ต้องตั้งรับ ขณะที่ มีผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 - 14 ธ.ค. 2559