เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง รู้จักหรือยัง? 3-4-50 โมเดลสุขภาพ




          คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจไปว่าการที่ร่างกาย ไม่ได้แสดงอะไรออกมาคือการมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

          ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วตัวเราเองสามารถลดโรคร้ายได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินทองอะไรมากมาย เพียงแค่ปรับพฤติกรรมบางอย่างเท่านั้น

          จากข่าวคราวเกี่ยวกับโรคติดต่อที่ออกมา ทั้ง "ซาร์ส" (SARS) รวมถึง "ไวรัสซิกา" (Zika virus) มีส่วนเหลือเกินที่ทำให้เราเชื่อว่าโรคติดต่อร้ายแรงคือมหันตภัยที่อันตรายต่อสุขภาพ

          ทว่าในความเป็นจริงแล้วฆาตกรเงียบซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนทั่วโลกมาจากกลุ่มโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลกเลยทีเดียว

          โดยกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเหล่านี้ประกอบไปด้วย โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งจากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าในปี พ.ศ. 2556 71% ของผู้เสียชีวิตในประเทศไทยหรือประมาณ 501,000 คน มีสาเหตุจากโรคกลุ่ม NCDs สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว ที่มีอัตราการเสียชีวิต 48% กัมพูชา 52% พม่า 59% ฟิลิปปินส์ 67% และต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเสียชีวิต 81% หรือสิงคโปร์ 76%

          คนไทยกับพฤติกรรมความเสี่ยง

          สำหรับโรคกลุ่ม NCDs นั้นนอกจากจะมีลักษณะร่วมคือ ไม่ติดต่อ และเรื้อรัง แล้วยังมีลักษณะร่วมที่สำคัญมากอีกอย่างคือเป็นโรคจากการทำร้ายตัวเองด้วยการใช้ชีวิตเสี่ยงจากการไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่มีประโยชน์ สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

          จากการศึกษาวิจัยไปยังพฤติกรรมของคนไทยนั้นพบว่ามีพฤติกรรมมากมายเหลือเกินที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ เฉลี่ย 13.5 ชม. ต่อวัน, ทานผักผลไม้น้อยลง, บริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง, นิยมบริโภคเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานและน้ำอัดลมสูง (เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน หรือ 41 ลิตรต่อคนต่อปี)

          รวมไปถึงจำนวนคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ซึ่งมีจำนวน 11.4 ล้านคนในปี พ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2556 ถึง 21% ในขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่า 7.1 ลิตรต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

          ดังนั้น เพื่อลดอัตราการเกิดโรค NCDs คนไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งการทำความเข้าใจสุขภาพ และรู้จักและเข้าใจสุขภาพของตน เพื่อการปรับปรุงสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

          3-4-50 โมเดลสุขภาพ

          ที่ผ่านมา Oxford Health Alliance องค์กรเพื่อสุขภาพในประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาและนำเสนอ "โมเดล 3-4-50" เพื่อการมีสุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง นั่นคือ การปรับเปลี่ยน 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรค คือ ทานอาหารไม่มีประโยชน์และลดความอ้วนแบบไม่มีคุณภาพ ออกกำลังกายไม่เพียงพอ และสูบบุหรี่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยป้องกัน 4 โรคเรื้อรังที่เกิดจากการใช้ชีวิตไม่เหมาะสม ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 50% ของคนทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก

          อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าใจและรับรู้ในเรื่อง ดังกล่าว ทว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs สำหรับคนส่วนใหญ่ก็ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ แต่อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไร้แรงกระตุ้นด้วยแล้ว

          จากคำบอกเล่าจาก ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา อาจารย์และนักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่าจากผลการวิจัยและการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ จะต้องได้รับแรงกระตุ้น ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และความเคยชิน

          โดยปัจจุบันได้มีการนำเอาหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมาช่วยเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทำได้ง่ายขึ้น โดยการ "สะกิด" หรือใช้แรงจูงใจ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดีในอนาคต

          "บุคคลจำนวนมากประสบปัญหาไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพบางคน อาจเพราะไม่มีความมุ่งมั่นหรือแรงบันดาลใจเพียงพอ ทำให้ถอดใจไปในระหว่างการดูแลรักษาสุขภาพ และคนจำนวนมากที่ถอดใจนี้ ในที่สุดก็ต้องตกเป็นเหยื่อของภาวะสุขภาพไม่ดีหรือโรคร้ายต่างๆ

          "ซึ่งการมีสุขภาพดีต้องอาศัยความมุ่งมั่น การวางแผน การติดตามผลและการประเมินวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการมีสุขภาพดีนั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ค่าหมอค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีชีวิต มีสุขภาพดี สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกๆ วัน"

          สำหรับหลายคนที่ประสบปัญหาในการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพดี อาจต้องใช้วิธีหา แรงจูงใจที่จะช่วยรักษาพฤติกรรมที่ดีในการดูแลสุขภาพให้ยืนยาวเป็นทางออกในการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างได้ผล ซึ่ง ณ ปัจจุบันถือเป็นข่าวดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่มองหาแรงกระตุ้นดังกล่าวกับการเปิดตัวของโครงการ เอไอเอ ไวทัลลิตี้ (AIA Vitality) เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะสร้างแรงจูงใจให้คุณหันมาปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ด้วยสิทธิประโยชน์มากมายจากพันธมิตรในโครงการ ซึ่งถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวสำหรับคนที่อยากมีสุขภาพดีแต่อาจจะขาดแรงกระตุ้นอยู่.

          บรรยายใต้ภาพ

          กลุ่มสนับสนุนงานการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่ 16 พ.ย. 2559