เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง เตือนผู้ปลูกถั่วฝักยาวเฝ้าระวังโรคใบจุด-ราสนิมถล่มแปลง




          สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วฝักยาว โรคใบจุด จะพบจุดแผลสีน้ำตาลปนแดงขนาดเล็กที่ใบล่างใกล้ผิวดิน ต่อมาแผลขยายใหญ่กลมสีน้ำตาล ขอบแผลไม่สม่ำเสมอ กลางแผลมีจุดไข่ปลาเล็กสีเทาดำเรียงเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ถ้ารุนแรง แผลกระจายทั่วบนใบ และพบเชื้อราขึ้นปุยสีน้ำตาลเข้มที่หลังใบ ใบแห้งกรอบ และร่วง ลำต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หากพบโรค ให้เกษตรกร ตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทโอฟาเนต-เมทิล 70% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

          สำหรับ โรคราสนิม พบในระยะถั่วฝักยาวเริ่มออกดอก โดยมากพบบริเวณใต้ใบแก่เหนือผิวดินก่อนแล้วค่อยลามขึ้นด้านบนของลำต้น มักมีจุดแผลสีเหลืองซีด กลางแผลมีตุ่มนูนสีน้ำตาลแดง รอบแผลสีเหลือง ต่อมาตุ่มนูนขยายใหญ่จนปริแตกออกเป็นผงสีน้ำตาลแดงคล้ายสีสนิม หากรุนแรง จะพบแผลกระจายทั่วทั้งใบ ใบเหลือง และหลุดร่วง กรณีพบโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะดิมีฟอน 20% อีซี อัตรา 10-15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน+ไดฟีโนโคนาโซล 20%+12.5% เอสซี อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 26 กันยายน 2559