เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ยุคประชากรดิจิทัล เปลี่ยนธุรกิจ-ลดต้นทุนบริโภค




          ผลสรุปของงานวิจัยระบุว่าจำนวนประชากรดิจิทัลหรือ digital natives ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคในตลาดโลก และนำไปสู่แรงกดดันที่ทำให้ราคาต่ำลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเงินเฟ้อ การเติบโตและนโยบายทางเศรษฐกิจ

          กระแสการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล (digital natives) ทำให้การบริโภคทั่วโลกถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น รายได้ ตลาดแรงงาน และความเชื่อมั่นอย่างไรก็ตามปัจจัยด้านรสนิยมและเทคโนโลยี กำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ เช่น การซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพลง การคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว และนำไปสู่กระแสการเกิดขึ้นของบริษัทอย่าง Amazon, Spotify, Uber และ Airbnb

          การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจจะเร่งตัวเร็วขึ้น เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของผู้บริโภคของโลก และการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวนประชากรดิจิทัลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคร่าวๆ ในปัจจุบัน 430 ล้านคนเป็น 2.3 พันล้านคนภายในปี 2573

          สำหรับประเทศไทยนั้น ประเมินว่าจะมีประชากรดิจิทัล เพิ่มเป็น 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.1% ในปี 2573จากปี 2559 ที่มีประชากรดิจิทัล0.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.5% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มเป็น 21.6 ล้านคน ในปี 2593 หรือคิดเป็นสัดส่วน 39.6%

          การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันต่อราคา ส่งผลให้ราคาต่ำลง ซึ่งอาจมาจากการมีข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับผู้บริโภค ห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพขึ้น การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางเลือกได้เพิ่มขึ้น หรือเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาถูกลง ซึ่งควรจะนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง

          และนี่จึงเป็นเรื่องน่าปวดหัวของผู้กำหนดนโยบายรัฐบาลที่มีระดับหนี้สูง และธนาคารกลางที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อต่ำ แต่ถ้าหากเงินเฟ้อลดลงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ลงเนื่องจากผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ใช่คำตอบ

          นัยทั้งหมดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับว่าตลาดแรงงานจะตอบสนองอย่างไรและผลิตภาพแรงงานจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในด้านหนึ่ง ด้วยการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นทั่วทุกอุตสาหกรรมทำให้ยอดขายหรือรายได้ไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้ บริษัทต่างๆ จะต้องหาวิธีเพิ่มผลิตภาพหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการทำกำไร และนี่อาจหมายถึงการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลจากค่าจ้างที่สูงขึ้น หรือจากเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง

          ด้านนางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท พีดับบลิวซี คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือไพร์ซ วอเตอร์เฮ้าส์ เปิดเผยรายงานThe Digital Healthcare Leapที่ทำการศึกษาการให้บริการด้านสุขภาพในตลาดเกิดใหม่ว่า ปัจจุบันธุรกิจบริการด้านสุขภาพเริ่มตื่นตัวในการนำระบบดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่ (New Digital Health Models) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลและการให้บริการที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า เพราะทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัยสูง และมั่นใจได้ถึงคุณภาพ

          ทั้งนี้คาดว่ากระแสการใช้นวัตกรรมเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจบริการด้านสุขภาพในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยตอบโจทย์ชนชั้นกลางที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และอาศัยอยู่ในตลาดเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก และช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย

          สำหรับประเทศไทย ดิจิทัลเฮลธ์จะช่วยให้ผู้ประกอบการด้านบริการสุขภาพและสถานพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้นเนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้รวดเร็ว และสามารถคาดการณ์แนวโน้มทางด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก ซึ่งปัจจุบัน ผู้ให้บริการภาคเอกชนของไทยหลายรายเริ่มนำนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพรูปแบบใหม่นี้เข้ามาใช้ในการให้บริการบ้างแล้ว ขณะที่ภาครัฐเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth) มาให้บริการแก่ประชาชน

          ไพร์ซฯยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ไทยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 4.1% ของประชากรทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 2555 ขณะที่ภายในปี 2593 คาดว่า 30% ของประชากรไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 65 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะส่งผลให้ตลาดดิจิทัลเฮลธ์ได้รับความนิยมมากขึ้น

 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 กันยายน 2559