เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ปลุกสวนมะพร้าวลดต้นทุน ทำเงินเสริมรายได้




          ขณะเดียวกันชาวสวนมะพร้าวยังมีต้นทุนการผลิตสูง ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้การจัดการดิน  ปุ๋ย และน้ำในสวนมะพร้าว ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ประกอบกับที่ผ่านมา สวนมะพร้าวได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้มะพร้าวติดผลน้อยลง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำและไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศสมาชิกเออีซี (AEC) เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น กะทิสำเร็จรูป โดยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่มะพร้าวในประเทศก็มีราคาดีด้วย

          นายจำรอง ดาวเรือง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวสวนมะพร้าว มีต้นทุนสูง คือ เกษตรกรไม่มีการวิเคราะห์ดินและไม่ได้ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ ทั้งยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชค่อนข้างมากด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและทำให้มีรายได้สูงขึ้น โดยเลือกใช้มะพร้าวพันธุ์ดีไปปลูกแซมหรือปลูกแทนสวนมะพร้าวเก่าที่มีอายุมากหรือต้นสูง อาทิ พันธุ์รับรอง และพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ พันธุ์สวีลูกผสม 1,  ลูกผสมชุมพร 60, ลูกผสมชุมพร 2, กะทิลูกผสมชุมพร 84-1 และชุมพร 84-2 เป็นต้น

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีเพื่อรองรับความต้องการ ของเกษตรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปีนี้มีแผนเพิ่มปริมาณ การผลิตต้นพันธุ์จาก 200,000 ต้น เป็น 300,000-400,000 ต้น นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์มะพร้าวเพิ่มเติมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี พิจิตร ปทุมธานี และศรีสะเกษ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้มากขึ้น เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกรได้

          ขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรยังมีแผนเร่งถ่ายทอด องค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวที่ถูกต้องและ เหมาะสมให้กับชาวสวนมะพร้าว เพื่อเป็นแนวทางพัฒนา ยกระดับการผลิตและช่วยลดต้นทุนด้วย อาทิ การปลูกทดแทนมะพร้าวอายุมากโดยปลูกแทรกระหว่างต้นเดิมเพื่อลดค่าแรง เก็บเกี่ยวมะพร้าวในอนาคต ทั้งยังส่งเสริมให้ใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้เพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ด้วยการปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า จะได้จำนวนต้นต่อไร่มากขึ้น 15% อาทิ การปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยแบบสามเหสี่ยม เช่น มะพร้าวน้ำหอม ที่ระยะระหว่างต้น 6.50 เมตร และระหว่างแถว 5.63 เมตร จะปลูกได้ 43 ต้น/ไร่ สำหรับมะพร้าวต้นสูง หากปลูกแบบสามเหลี่ยมที่ระยะ 9x7.80 เมตร จะปลูกได้ 22 ต้น/ไร่ และ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้

          นอกจากนั้น ยังแนะนำให้ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พร้อมส่งเสริมให้ผสมปุ๋ยเคมีใช้เองหรือใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับ ปุ๋ยอินทรีย์  เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีลง  และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการป้องกันศัตรูมะพร้าวโดยทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเป็นประจำ กำจัดวัชพืชและกองทางมะพร้าวภายในแปลง ตัดทางใบมะพร้าวแก่ที่อยู่ด้านล่างออก เพื่อลดการคายน้ำ 25-50% ทางใบอ่อนจะได้รับธาตุอาหาร และความชื้นมากขึ้น และควรไถพรวนระหว่างแถวมะพร้าว ไม่ลึกเกินไปเพื่อตัดรากเดิม โดยไถสลับกันทุกปีช่วงปลาย ฤดูแล้งเพื่อให้เกิดรากใหม่

          "ควรมีระบบให้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ถ้าฝนแล้งนานจะกระทบต่อการติดดอกออกผล ถ้ามีการให้น้ำ มะพร้าวจะ ติดผลดกและให้ผลผลิตต่อไร่สูง  เมื่อมะพร้าวอายุมาก ต้นสูง เก็บเกี่ยวลำบากและเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น ควรทยอยปลูกทดแทนแล้วโค่นต้นเก่าทิ้ง และเกษตรกรสามารถที่จะปลูกกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง พืชผัก และสมุนไพร เช่น ผักเสี้ยน ขมิ้นชัน แซมในสวนมะพร้าว เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง" ผอ.สถาบัน วิจัยพืชสวน กล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 กันยายน 2559