เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ปัญหาเกษตร ที่นี่มีคำตอบ: ปุ๋ยหมัก วิธีการผลิตและการใช้




          ส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยหมัก  นักวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำวิธีการจัดทำและวิธีใช้ ไว้ดังนี้

          เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัมมูลสัตว์ 200 กิโลกรัมปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัมสารเร่ง พด.1 1 ซอง วิธีการกองปุ๋ยหมัก การกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน จะมีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ วัสดุที่มีขนาดเล็ก ให้คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากัน แล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนวัสดุที่มีชิ้นส่วนยาว ให้กองเป็นชั้นๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง มีวิธีการกองดังนี้

          1. ผสมสารเร่ง พด.1  ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์ และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย

          2. การกองชั้นแรก ให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่ง มากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่น และรดน้ำให้ชุ่ม นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืชให้ทั่ว โรยปุ๋ยไนโตรเจนทับบนชั้นของมูลสัตว์ แล้วราดสารละลายสารเร่งให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้นๆ หลังจากนั้น นำเศษพืชมากองทับ เพื่อทำชั้นต่อไป ทำเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้ อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของการกองปุ๋ย ควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่ เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น

          การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก1. รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย รดน้ำให้กองปุ๋ยชุ่มอยู่เสมอให้มีความชื้น ประมาณ 50-60

          เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก ตรวจสอบโดยการหยิบวัสดุภายในกองปุ๋ยมาบีบดู อย่าให้เปียกถึงขนาดมีน้ำออกจากง่ามนิ้วมือ หรือเมื่อคลายมือออก จะไม่มีน้ำติดตามฝ่ามือ ถ้าหากความชื้นน้อยเกินไป จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นได้ช้า แต่ถ้ากองปุ๋ยแฉะจนเกินไป จะทำให้การถ่ายเทอากาศไม่ดี เกิดสภาพขาดออกซิเจน จะมีผลกระทบต่อกิจกรรมของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ย กระบวนการย่อยสลายจะเกิดขึ้นช้าเช่นกัน

          2. การกลับกองปุ๋ยหมัก ให้กลับกองปุ๋ย 7-10 วันต่อครั้งเพื่อระบายอากาศ เพิ่มออกซิเจน ลดความร้อน และให้วัสดุคลุกเคล้าเข้ากัน ทำให้กิจกรรมของจุลินทรีย์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กรณีไม่มีแรงงานกลับกองปุ๋ย ให้ใช้ไม้ไผ่เจาะรูทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างตามข้อ หรือใช้ท่อเอสล่อนเจาะรูโดยรอบ ปักลงไปในกองปุ๋ยหมักให้ลึกรอบๆ กองปุ๋ย ห่างกันลำละ 50-70 ซม. จะช่วยการถ่ายเทอากาศของกองปุ๋ยได้ดีขึ้น

          3. การเก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้ว ถ้า ยังไม่ได้นำปุ๋ยหมักไปใช้ทันที ควรนำปุ๋ยหมักที่ได้ไป เก็บไว้ในโรงเรือน การที่ปล่อยให้ปุ๋ยหมักตากแดดและ ฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้

          การพิจารณาปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว1.สีของวัสดุเศษพืช ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์ จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ

          2.ลักษณะของวัสดุเศษพืช ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์ จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม ยุ่ย และขาดออกจากกันได้ง่าย ไม่แข็งกระด้างเหมือนวัสดุเริ่มแรก

          3.กลิ่นของวัสดุปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ จะไม่มีกลิ่นเหม็น

          4.ความร้อนในกองปุ๋ย หลังจากกองปุ๋ยหมัก 2-3 วัน อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะสูงขึ้นระยะหนึ่ง แล้ว จะค่อยลดลงจนใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกองปุ๋ย จะถือว่าเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ประกอบด้วย เพราะกรณีที่ความชื้นน้อยหรือมากไป อาจทำให้อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยหมักลดลงเช่นกัน

          5.สังเกตเห็นการเจริญของพืชบนกองปุ๋ยหมัก เมื่อกองปุ๋ยหมักใช้ได้แล้ว อาจมีพืชเจริญบนกองปุ๋ยหมักได้ แสดงว่าปุ๋ยหมักนำไปใส่ในดินได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อพืช

          อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ยหมัก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพืชที่ปลูก ควรใส่ปุ๋ยหมักในช่วงเตรียมดิน และไถกลบลงไปในดิน ขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ธาตุอาหารที่มีอยู่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 13 สิงหาคม 2559