เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง น้ำหมักชีวภาพจากปลา




          น้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านกระบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยธาตุอาหารรอง ได้แก่ กำมะถันเหล็กทองแดง และแมงกานีสอีกด้วย

          สูตรที่ใช้1.ปลาหรือเศษปลาจำนวน 40 กิโลกรัม2.กากน้ำตาลจำนวน 20 กิโลกรัม3.หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพพด.2 จำนวน 1 ถุง(สามารถขอได้ที่กรมพัฒนา ที่ดิน หรือสำนักงานพัฒนาที่ดินในเขตหรือจังหวัดใกล้บ้าน)

          ขั้นตอนการทำ นักวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำวิธีทำไว้ดังนี้

          นำหัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพพด.2 มาละลายในน้ำอุ่น 20 ลิตร ผสมลงในถังขนาด 200 ลิตร พร้อมปลาหมักและกากน้ำตาลเติมน้ำสะอาดจนเกือบเต็มแต่อย่าให้ถึงกับล้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นำไนล่อนชนิดถี่มาปิดไว้เพื่อป้องกันแมลงวันวางไข่หมักไว้ประมาณ 25-30 วัน ในระหว่างนี้น้ำในถังจะเริ่มลดลงให้เติมน้ำสะอาดลงไปอีกให้ออกซิเจนตลอดเวลา โดยหมั่นคนน้ำหมักอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้งในกรณีที่ใช้พ่นทางใบควรหมักให้นานกว่าปกติยิ่งนาน ยิ่งดีเพราะถ้านำมาใช้เร็วอาจเกิดผลเสียทำให้ใบไหม้ได้

          วิธีสังเกต มีวิธีสังเกตว่าจะนำ น้ำหมักมาใช้ได้ ดังนี้

          แก้ไขระยะที่ 1 สังเกตน้ำหมักจะออก เข้มข้นเป็นฟองใหญ่ไม่แตกง่าย

          ระยะที่ 2 ฟองจะค่อยๆเล็กและแตกง่ายจะมีกลิ่นหอม

          ระยะที่ 3 ฟองจะค่อยๆเล็กลงมากมีกลิ่นน้ำส้มคล้ายกลิ่นแอลกอฮอล์และฟองจะละเอียดมากขึ้น

          ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพทำให้พืชที่ปลูกออกดอกเร็วเก็บผลผลิตได้เร็วได้ผลผลิตปริมาณที่มากขึ้นและมีคุณภาพดีลงทุนน้อยลดต้นทุนในการผลิตและสามารถผลิตไว้ใช้เองในครัวเรือนไม้ผลจะมีรากที่แข็งแรงใบสวยใบใหญ่และยังปรับให้สภาพพื้นที่ดินดีไม่เสียไม่เปรี้ยว

          วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ถ้าจะใช้ฉีดพ่นทางใบใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ลิตรต่อน้ำ 100-150 ลิตร ปริมาณการพ่น 7-10 วัน/ครั้ง และถ้าใช้ราดลงดินให้ราดที่โคนต้นใช้น้ำหมัก ชีวภาพ 1 ลิตรต่อน้ำ 50 ลิตร ปริมาณการใช้ อย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง หรือ 30-40 วัน/ครั้ง

          น้ำหมักชีวภาพจากปลานั้น ทำได้ไม่ยาก สะดวก รวดเร็ว ใช้ได้ง่าย ลงทุนน้อย ลดต้นทุนในการผลิตและสามารถผลิตไว้ใช้เองในครัวเรือนง่ายๆ และมีประโยชน์มากกว่าโทษ หากมีความรู้ความเข้าใจในการนำไปใช้ ก็จะใช้ได้ผลดีเป็นอย่างมาก จากคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้ใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาพบว่า น้ำหมักชีวภาพจากปลา จะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เช่น ดอกไม้ให้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดีขึ้นช่วยเร่งการแตกยอดและออกดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้อีกด้วย

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 31 สิงหาคม 2559