เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง คอลัมน์: หนักเอาเบาสู้: เมลอนรายได้เสริม เลี้ยงครอบครัวสังฆมณี




          ที่พื้นที่แปลงเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ภายในกองพลทหารช่าง 202 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบ เบญจมาศ  สังฆมณี อายุ 42 ปี ภรรยา จ.ส.อ.นิกรกิจ สังฆมณี ข้าราชการทหารในสังกัดกองพลทหารช่าง 202 ซึ่งบริเวณดังกล่าวทำเป็นโรงเรีอนปิด 1 โรง ภายในปลูกเมลอนระบบน้ำหยดซึมนับร้อยต้น กำลังออกผลใกล้ถึงเวลาเก็บผลผลิต

          เบญจมาศ เจ้าของโรงปลูกเมลอนแห่งนี้ เปิดเผยว่า ลาออกจากงานประจำในโรงงาน เพื่อมาดูแลลูกสาวที่ป่วย ทำให้ครอบครัวต้องขาดรายได้ เพราะลำพังเงินเดือนของสามีก็ไม่เพียงพอ จึงใช้เวลาว่างจากการดูแลลูกไปสมัครเรียนหนังสือที่ กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา ชั้นมัธยมปลาย ซึ่งศูนย์ กศน.ได้พาไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. เกิดความสนใจเรื่องการปลูกเมลอนขาย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยม รวมทั้งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาก จึงปรึกษาสามี เพื่อขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ขอใช้พื้นที่บริเวณแปลงเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงของกองพลทหารช่าง 202 เพื่อใช้ทำโรงเรือนปลูก ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยดี จึงเริ่มลงทุนสร้างโรงเรือน เป็นจำนวนเงิน 3 หมื่นบาท ใช้พื้นที่ 6x10 เมตร

          จากนั้นสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เมลอนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาเมล็ดละ 8 บาท 300 เมล็ด เป็นเมล็ดเมลอนพันธุ์เท็นชิ กับฮาโรน่า ซึ่งมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน กรอบ อร่อยมาก เริ่มปลูกชุดแรกเมื่อต้นปี 2559 โดย 1 โรงเรือน สามารถปลูกได้จำนวน 170 ต้น ใช้ระบบน้ำหยดซึม 2 เวลา เช้า-เย็น ซึ่งประหยัดน้ำมาก เพียงแค่วันละ 40 ลิตร

          นอกจากนั้นก็จะมีค่าปุ๋ยสัปดาห์ละ 500 บาท ใช้เวลาตั้งแต่เตรียมแปลง จนถึงเก็บผลผลิต เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยแต่ละรุ่นสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 1,200 กิโลกรัม น้ำหนักผลเมลอนเฉลี่ยลูกละ 1.5 กิโลกรัม ซึ่งจะนำมาประกาศขายให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก และไลน์ ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท ปรากฏว่าขายดีมาก จนเพื่อนๆ ต้องสั่งจองล่วงหน้าตั้งแต่ลูกเมลอนยังไม่โตเต็มที่ สร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวต่อรุ่นประมาณ 1.5 หมื่นบาท

          ทำให้ตอนนี้เบญจมาศและสามีต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างโรงเรือนเพิ่มอีก 1 โรง เพื่อปลูกขายให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และวางแผนว่า หากมีผลผลิตจำนวนมากก็จะนำไปฝากขายที่ฟาร์ม มทส.อีกด้วย

          บรรยายใต้ภาพ

          เบญจมาศ สังฆมณี

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 25 สิงหาคม 2559