เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ใช้เงินเดือนให้คุ้มค่า




เรื่อง...ราตรีแต่ง

          ต้นเดือนอู้ฟู่แบบนี้คือช่วงหลงระเริงใจยิ่งนัก ยิ่งพอเดินเข้าห้างสรรพสินค้าปะทะแอร์เย็นๆ บวกกับป้ายเซลส์จู่โจมโดยไม่รู้ตัว เงินเดือนเพิ่งเข้ากระเป๋าแท้ๆ ก็ต้องเรียกว่าเข้ามือซ้ายใช้ออกผ่านมือขวาไปอย่างง่ายดาย นิสัยแบบนี้เรียกว่า ใช้เงินเดือนได้อย่างไม่คุ้มค่า การจับจ่ายใช้สอยง่ายดายเกินไป นิสัยแบบนี้ต้องลำบากในวัยเกษียณแน่นอน

          มนุษย์เงินเดือนวันนี้ ควรวางเป้าหมายส่วนตัวโดย มีอิสรภาพทางการเงินอายุไม่เกิน 45 ปี และมีทรัพย์สินที่สร้างรายได้เพียงพอตลอดทั้งชีวิต โดยมีกฎเหล็ก ดังนี้

          1. รู้จักออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย

          กฎเหล็กเงินออม 30% รายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน 45% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 25% ควบคุมความอยากของตัวเอง เช่น ถ้าอยากได้ของชิ้นใหญ่ อย่าซื้อทีเดียวติดๆ กัน เช่น โทรศัพท์มือถือ แพ็กเกจท่องเที่ยว กระเป๋าแบรนด์เนม ให้เว้นช่วงห่างกัน ไม่ใช่ซื้อทุกเดือน ควรเดือนเว้นเดือน ก็เข้าใจความอยากของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด แต่คนมีเงินเก็บจะเลือกซื้อของมีโอกาสได้ใช้จริง มนุษย์เงินเดือนควรมีเป้าอัตราการออม 30-70% ของ รายได้ทั้งปี ตามรายได้ที่มากขึ้น

          การมีรายได้หลายๆ ทาง ก็ยิ่งกระเป๋ารั่วได้มากขึ้นด้วย เช่นกัน ได้มากก็ใช้มาก ควรเริ่มต้นเก็บออม 10% ของรายรับทุกประเภททันทีที่ได้รับเงินมา ก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือค่าผ่อนชาระ ให้เข้าฝากธนาคารให้เป็นนิสัย

          2. รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายทำอย่างไรดี?

          เฟิร์สจ็อบเบอร์หลายคนประสบปัญหานี้ คือมีรายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายในบางเดือน หรือเดือนชนเดือน ทำให้คิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องเคร่งเครียดมาก เราก็สามารถใช้ชีวิตผ่านพ้นวิกฤตนั้นไปได้ด้วยการปรับแผนการ ใช้จ่ายบางส่วน หลักการออมเงินที่ถูกต้องก็คือการแบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินออมก่อนค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยการออมเงินนั้นไม่จำเป็นต้องออมเป็นจำนวนมากเสมอไป หากมีรายได้น้อยก็ออมน้อย มีรายได้มากก็ออมมาก แค่นี้ก็สามารถออมเงินได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว

          3. การออมเงินภาคบังคับ

          การออมเงินภาคบังคับเป็นวิธีที่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนในบั้นปลาย การออมประเภทนี้อยู่ในรูปของกองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คนทำงานจึงควรมีระบบการออมเงินภาคบังคับ เช่น เงินกองทุนประกันสังคมเราจะได้รับคืนในรูปของเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เมื่อเกษียณอายุ ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น หลักการคือหักรายได้จากเงินเดือนของลูกจ้างสะสมเข้ากองทุนโดยนายจ้างสมทบให้ในอัตราที่เท่ากัน เมื่อลาออกหรืออายุครบเกษียณจะได้รับเงินก้อนเพื่อเป็นทุนเลี้ยงชีพในบั้นปลาย

          การส่งเงินเข้าสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สร้างผลกำไรที่งอกเงยจากเงินลงทุนได้ หากกองทุนนำเงินสมทบ ไปลงทุนให้โดยให้เข้าของกองทุนเลือกตามความเสี่ยง

          4. สร้างเกราะคุ้มกันทางการเงิน

          รับเงินเดือนถ้าไม่มีวิธี Financial Protection บั้นปลายชีวิตก็แย่ คนทำงานควรมีเงินสดที่ถือในมือ หรือฝากธนาคารคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 6 เดือนของค่าใช้จ่ายจำเป็น พื้นฐาน ซึ่งคิดแบบไม่มีวันหยุด ไม่มีการออม และไม่มีการ ซื้อของรายการพิเศษใหญ่ๆ ใดๆ เช่น ค่าใช้จ่ายพื้นฐานรายเดือน = 2 หมื่นบาท การมีเกราะคุ้มกันทางการเงิน คือจะต้องมีเงินสดในมืออย่างน้อย 6  2 หมื่นบาท  = 1.2 แสนบาท

          แต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างเท่ากัน เช่น ค่าผ่อนคอนโด ผ่อนรถ และมาดูค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน เช่น ค่ากิน ค่าใช้จ่ายการเดินทาง แล้วกะประมาณเงินเก็บ แต่ละเดือนเงินเก็บแบ่งเป็นสอง หรือสามส่วน คือ ระยะสั้น สามารถถอนมาได้ถ้าจำเป็น ระยะกลาง สำหรับฝัน เช่น รถ บ้านและกันไว้เผื่อเรื่องฉุกเฉิน ระยะยาวไว้เป็นเงินเย็นอาจจะ เผื่อเกษียณ

          5. เก็บเงินโบนัสไว้ให้ดี

          ยิ่งถ้าเป็นเงินก้อนที่สามารถเอาไปลงทุนได้ในอนาคต ควรเก็บเอาไว้ดีกว่าออกมาจับจ่ายซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย หรือถ้าวางแผนให้รางวัลชีวิต เช่น การท่องเที่ยวในแต่ละปีไม่เกิน 30% ของเงินโบนัส ที่เหลือเก็บเอาไปลงทุน การรับเงินก้อนปีละครั้งควรใช้ให้คุ้มค่า เช่น โบนัส การเอาไปโปะ (หรือปิด) สินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นการจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงสุด ถือว่าใช้เงินได้คุ้มที่สุด

          6. สร้างนิสัยจดบันทึกการใช้เงิน

          การมีรายได้อยู่แหล่งเดียว คือเงินเดือน แล้วในแต่ละเดือนก็กำหนดตายตัวรู้ๆ กันอยู่แล้วว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เรื่องใหญ่ๆ ก็มีไม่กี่เรื่อง ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน/ค่าห้อง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าอาหาร หลักๆ ก็แค่นี้ ไม่เห็นต้องจดบันทึกเลย หรือจะจำไปทำไม (มีแต่รายได้ทั้งนั้น) ซึ่งนี่คืออีกเรื่องที่สร้างนิสัยผิดๆ เพราะบางทีเรื่องเล็กๆ หลายเรื่องรวมกันทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ควรจะประหยัดได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะจับจ่ายเสียเพลินมันเล็กๆ น้อยๆ (จนไม่รู้ตัว) แล้วสุดท้ายจะพบว่า...เงินเดือน(หาย)ไปไหนหมด?!! แต่ก็ตอบไม่ได้ แล้วจะประหยัดตรงไหนดี ก็ตอบไม่ได้เช่นกัน ลองกลับมาจดบันทึกประจำวันเล็กๆ น้อยๆ สร้างนิสัยเศรษฐีเงินล้านอายุน้อยก่อนสามสิบปี กันได้แล้วอย่ารีรอ


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 4 สิงหาคม 2559  หน้า C4